คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจองเป็นเพียงหนังสือแจ้งความประสงค์จะจองที่ดินเท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อยังไม่ได้ทำกัน ผลจากการชี้ช่องหรือจัดการของโจทก์ที่ทำการเป็นนายหน้าจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จในการเป็นนายหน้าจากจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 845
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทำป้ายโครงการกับค่าพิมพ์สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยทั้งสองให้การว่าตกลงให้โจทก์ดำเนินการแบ่งที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นแปลงย่อยเพื่อนำออกขาย โจทก์จึงขอปลูกสร้างบ้านขายพร้อมที่ดินโดยทำเป็นโครงการ ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธค่าใช้จ่ายที่โจทก์ฟ้องมา โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าได้เสียค่าทำป้ายและค่าแบบพิมพ์สัญญาไปจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 707,440 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 257,440 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 47,940 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภรรยากันตกลงให้โจทก์นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 365 เลขที่ดิน 163 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 61 ตารางวา ของจำเลยที่ 1 มาแบ่งเป็นแปลงย่อยเพื่อทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรขาย โดยใช้ชื่อว่าโครงการบ้านสวนเชียงใหม่สันผีเสื้อโจทก์ดำเนินการวางผังหมู่บ้าน ออกแบบบ้าน ทำการโฆษณาและจัดทำเอกสารต่างๆ ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่ประสงค์จะขายที่ดินดังกล่าวแล้ว โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์เรียกค่าบำเหน็จจากการเป็นนายหน้าขายที่ดินของจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ที่ดินของจำเลยที่ 1 นำมาแบ่งขายได้ 42 แปลง มีผู้มาจองซื้อแล้ว 25 แปลง ได้ตกลงทำสัญญาจองกันไว้ เห็นว่า สัญญาจองเป็นเพียงหนังสือแจ้งความประสงค์จะจองที่ดินในโครงการบ้านสวนเชียงใหม่สันผีเสื้อเท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายจะทำกันหลังจากโจทก์ทำการถมที่ดินและทำถนนในโครงการเสร็จแล้ว เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อยังไม่ได้ทำกัน ผลจากการชี้ช่องหรือจัดการของโจทก์ที่ทำการเป็นนายหน้าจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าบำเหน็จในการเป็นนายหน้าจากจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์เรียกค่าทำป้ายโครงการจำนวน 8,000 บาท และค่าพิมพ์สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำนวน 1,500 บาท จากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ค่าใช้จ่ายทั้งสองรายการนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การถึงหรือโต้แย้งไว้ จึงไม่มีประเด็นที่โจทก์ต้องนำสืบเพราะถือว่าจำเลยทั้งสองได้รับแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การว่าตกลงให้โจทก์ดำเนินการแบ่งที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นแปลงย่อยเพื่อนำออกขาย โจทก์จึงขอปลูกสร้างบ้านขายพร้อมที่ดินโดยทำเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรร ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องมา โจทก์ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่า โจทก์ได้เสียค่าทำป้ายโครงการและค่าแบบพิมพ์สัญญาจะซื้อจะขายไปจริง การที่โจทก์มาเบิกความลอยๆ ถึงค่าใช้จ่ายทั้งสองรายการดังกล่าวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจำนวน 209,500 บาท โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลจำนวน 5,238 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลจำนวน 6,435 บาท ซึ่งเกินมา 1,197 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินแก่โจทก์

Share