แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การสละมรดกนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2481 ข้อ 14, 15 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 กำหนดให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ เจ้าพนักงานที่ดินจึงมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612
ต. ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนทายาทของ ค. ทุกคนรวมทั้ง ส. มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ต. ในฐานะทายาทคนหนึ่งของ ค. คงมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินเฉพาะส่วนของ ต. ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 และมาตรา 1646 แต่ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของทายาทอื่นของ ส. ย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของ ต. ที่จะทำพินัยกรรมยกให้จำเลยทั้งสองได้ เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่แบ่งกรรมสิทธิ์รวม จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของ ส. ทายาท ค. รื้อบ้านทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทหรือเรียกค่าเสียหายได้
ต. ลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนทายาทของ ค. ซึ่งรวมถึง ส. มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ เพราะการครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนางสัมฤทธิ์ นิ่งสมบูรณ์ นางสัมฤทธิ์ จำเลยทั้งสองและนางสาวตุ๊ กระแสร์โฉม เป็นบุตรของนางสาคร กระแสร์โฉม นางสาครมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ตำบลหัวไผ่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อนางสาครถึงแก่ความตาย บุตรของนางสาครที่มีชีวิตอยู่รวม 6 คน ได้ให้นางสาวตุ๊ ใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแทน นางสัมฤทธิ์ปลูกบ้านและอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 3 งาน ต่อมาปี 2528 นางสัมฤทธิ์ได้ยกที่ดินเนื้อที่ 3 งาน พร้อมบ้านให้โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินเนื้อที่ 3 งาน โดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเกินกว่าสิบปี ปัจจุบันนางสาวตุ๊ถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนตายนางสาวตุ๊ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวแก่จำเลยทั้งสองให้แบ่งแยกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองและใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนทางด้านทิศตะวันออกในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายคำฟ้องหมาย 2 เนื้อที่ 3 งาน ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 3 งาน ดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าบุตรของนางสาครทุกคนได้สละสิทธิรับมรดกโดยให้นางสาวตุ๊รับมรดกที่ดินของนางสาครแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ทั้งสองไม่เคยครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนเนื้อที่ 3 งาน ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แต่ได้ขอนางสาวตุ๊อาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว ปี 2539 นางสาวตุ๊ถึงแก่ความตาย ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยทั้งสอง ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองและบริวารรื้อย้ายเรือนเลขที่ 125/1 และเรือนไม่มีเลขที่ หมู่ 6 ตำบลหัวไผ่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ของจำเลยทั้งสอง ตามแนวเส้นสีแดง แผนที่สังเขปท้ายคำให้การ ให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินจำเลยทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนเนื้อที่ 3 งาน โดยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันนานกว่าสิบปีไม่เคยขออาศัยผู้ใดอยู่ในที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองรื้อบ้านเลขที่ 125/1 และบ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 6 ตำบลหัวไผ่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกจากที่ดินพิพาทตามเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ตำบลหัวไผ่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยาของจำเลยทั้งสอง พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 คำขออื่นของจำเลยทั้งสองให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ตำบลหัวไผ่ (บ้านศีศะไผ่) อำเภอมหาราช (นครใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เป็นของนางสาคร กระแสร์โฉม นางสาครมีบุตร 7 คน ถึงแก่ความตายก่อนนางสาคร 1 คน นางสาวตุ๊ กระแสร์โฉม เป็นบุตรคนโต จำเลยทั้งสองกับนางสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสองต่างเป็นบุตรของนางสาคร เมื่อนางสาครตายนางสาวตุ๊เป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ต่อมานางสาวตุ๊ได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 258 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน ให้นางสาวสุกัญญา ศรีสกุล ซึ่งเป็นบุตรของที่ 2 นางสาวตุ๊ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อนางสาวตุ๊ตาย จำเลยทั้งสองรับโอนมรดกตามพินัยกรรม ที่ดินตามพินัยกรรมบางส่วนเป็นที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองครอบครองมีเนื้อที่ 2 งาน 48 7/10 ตารางวา ตามเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 แผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3 โดยมีที่ดินพิพาทมีบ้านเลขที่ 125/1 ของนางสัมฤทธิ์ปลูกไว้ตั้งแต่นางสาครยังมีชีวิต เมื่อนางสัมฤทธิ์ตายบ้านเลขที่ 125/1 ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 กับมีบ้านไม่มีเลขที่ของโจทก์ที่ 1 ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท
ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่านางสัมฤทธิ์ นิ่งสมบูรณ์ ตกลงให้นางสาวตุ๊ กระแสร์โฉม ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้แทนตนดังที่โจทก์อ้างหรือนางสาวตุ๊ได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 258 แต่เพียงผู้เดียว เพราะทายาทอื่นสละสิทธิในการรับมรดกดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ปัญหานี้จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อนางสาครถึงแก่ความตาย นางสาวตุ๊จึงเข้ารับโอนมรดกตามคำสั่งของนางสาครและพี่น้องของนางสาวตุ๊ยินยอมสละมรดกไม่ขอรับมรดกในที่ดินแปลงดังกล่าวทุกคนรวมทั้งนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย การรับมรดกของนางสาวตุ๊ไม่ใช่เป็นการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนทายาทตามคำฟ้องโจทก์แต่ประการใด เห็นว่า การสละมรดกนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2481 ข้อ 14, 15 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 กำหนดให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ แต่ตามบันทึกถ้อยคำเอกสาร จ.5 และ จ.8 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ทายาทของนางสาครคือจำเลยทั้งสอง นางทองขาว คนึงเหตุ นายสำราญ กระแสร์โฉม นางสัมฤทธิ์หรือสำริด นายฉอ้อน กระแสร์โฉม ทำไว้นั้นได้ทำไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งมิใช่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 บันทึกถ้อยคำนั้นจึงมิใช่เอกสารสละมรดกตามที่จำเลยทั้งสองให้การ โจทก์ทั้งสองนำสืบถึงมูลเหตุแห่งการทำเอกสารหมาย จ.5 และ จ.8 โดยนำนายสำราญ กระแสร์โฉม บุตรของนางสาครมาเบิกความว่าตอนแรกทายาททุกคนต้องการลงชื่อในโฉนด แต่ชื่อของนางทองขาวไม่ตรงกับสำเนาทะเบียนบ้านไม่สามารถใส่ชื่อทุกคนได้ เจ้าพนักงานที่ดินแนะนำให้ลงชื่อคนใดคนหนึ่งไว้ก่อนก็ได้จะได้ไม่ต้องเสียเวลามากันอีก ทายาทจึงตกลงกันให้ลงชื่อนางสาวตุ๊ไว้ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากนางสาวตุ๊ไม่มีบุตรไม่มีสามี เมื่อนางสาวตุ๊ตายแล้วพยานกับพวกซึ่งเป็นทายาทก็สามารถรับมรดกของนางสาวตุ๊ได้ พยานโจทก์ทั้งสองอีกปากหนึ่งคือนายฉอ้อน กระแสร์โฉม ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 แต่นายชุ่ม กระแสร์โฉม กับนางสาครจดทะเบียนแจ้งเกิดให้เป็นบุตรของนายชุ่มกับนางสาครเบิกความทำนองเดียวกับนายสำราญว่า เมื่อนางสาครตาย ทายาทของนางสาครทั้งหมด เว้นแต่บุตรคนที่ 2 ซึ่งหายออกจากบ้านไปเป็นสิบปีแล้วได้ไปที่สำนักงานที่ดินปรากฏว่าสำเนาทะเบียนบ้านของนางทองขาว มีชื่อคนอื่นเป็นบิดามารดาไม่ใช่นายชุ่มกับนางสาคร เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ จึงแนะนำให้โอนที่ดินเป็นชื่อของนางสาวตุ๊ไปก่อนเพราะนางสาวตุ๊ไม่มีสามีและบุตร ทายาทคนอื่นๆ ก็ยินยอมลงลายมือชื่อไว้ในเอกสาร ความจริงพี่น้องทุกคนมีความประสงค์จะแบ่งที่ดินของผู้ตายแปลงนี้เท่าๆ กัน นางสาวตุ๊เองก็บอกว่าจะแบ่งที่ดินให้เท่าๆ กันทุกคน นางทองขาว คนึงเหตุ บุตรนางสาครก็เบิกความเป็นพยานโจทก์รับว่าหลังจากนางสาครถึงแก่ความตายแล้ว บรรดาทายาทของนางสาครทุกคนได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อที่จะไปลงชื่อรับโอนที่ดินทุกคน แต่ปรากฏว่าชื่อบิดาในสำเนาทะเบียนบ้านของพยานไม่ถูกต้อง ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีตัวจำเลยทั้งสองอ้างตัวเองเบิกความเป็นพยานว่า ทายาททุกคนของนางสาครสละสิทธิการรับมรดกโดยตกลงยกให้นางสาวตุ๊คนเดียว เนื่องจากนางสาวตุ๊เป็นคนเลี้ยงดูนางสาครและยังเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าว เห็นว่า ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 มีการไถ่ถอนจำนองตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2509 ก่อนนางสาวตุ๊จดทะเบียนรับโอนที่ดินวันที่ 4 พฤศจิกายน 2525 นานมาก เมื่อนำข้อเท็จจริงที่ว่านางสัมฤทธิ์มีบ้านเลขที่ 125/1 ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทตามภาพถ่ายหมาย จ.2 เป็นการถาวรอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีตามแผนที่พิพาทวิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 จึงไม่น่าเชื่อว่านางสัมฤทธิ์จะตกลงไม่รับมรดกของนางสาครดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าบรรดาทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยให้นางสาวตุ๊ได้รับมรดกเพียงผู้เดียว แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าการที่ทายาทนางสาครทำเอกสารหมาย จ.5 และ จ.8 ซึ่ง ตรงกับเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ไม่ได้กระทำเพื่อตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปโดยสละมรดก แต่ทายาทนางสาครกระทำเพื่อให้นางสาวตุ๊ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 258 แทนทายาทของนางสาครทุกคนรวมทั้งนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า นางสาวตุ๊ได้รับมรดกในที่ดินโฉนดเลขที่ 258 แต่เพียงผู้เดียวเพราะทายาทอื่นสละสิทธิในการรับมรดก ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า นางสาวตุ๊มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คดีฟังได้ว่านางสาวตุ๊ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 258 แทนทายาททุกคนรวมทั้งนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วยดังได้วินิจฉัยมาแล้ว นางสาวตุ๊ในฐานะทายาทคนหนึ่งของนางสาครคงมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 258 เฉพาะส่วนของนางตุ๊ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 และมาตรา 1646 แต่ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของทายาทอื่นของนางสาครย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของนางสาวตุ๊ที่จะทำพินัยกรรมยกให้จำเลยทั้งสองได้ เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของนายสัมฤทธิ์ทายาทนางสาครรื้อบ้านเลขที่ 125/1 และบ้านไม่มีเลขที่ทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทหรือเรียกค่าเสียหายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนบ้าน ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง โดยนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทของนางสาครยกให้ เมื่อคดีฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 258 มีนางสาวตุ๊ลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทนทายาทของนางสาคร ซึ่งรวมถึงนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 258 โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์เองได้ เพราะการครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น นอกจากจะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว จะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย หากเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย หากเป็นการครองครองทรัพย์สินของตนเองแล้ว ก็หามีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์ในการครองครองไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ชอบแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลตามฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ.