แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่จะต้องพิจารณาคำฟ้องตลอดทั้งเรื่อง มิใช่ถือเอาข้อความในคำฟ้องตอนใดตอนหนึ่งมาวินิจฉัย
คำฟ้องของโจทก์ตอนแรกบรรยายใจความว่า ผ.เสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงซื้อในราคา 3,000 บาท ได้ชำระราคาให้ ผ.รับไปแล้ว และ ผ.ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และโจทก์ได้บรรยายข้อความต่อไปว่า ผ.รับปากว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองในภายหลัง แต่แล้วก็หายหน้าไปเลย โดยมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ คำฟ้องดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้ ผ.จะรับเงินค่าที่ดินไปจากโจทก์ทั้งสองแล้ว ผ.ก็ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ เพียงแต่ให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ในภายหลัง คำฟ้องดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง
ผ.ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จริง โดยได้รับเงินค่าที่ดินพิพาทแล้วและได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาแม้สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อมีการชำระหนี้กันแล้วก็มีผลใช้บังคับกันได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ แม้ ผ.จะถึงแก่ความตายแล้วกว่า 30 ปี โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ผ.ให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 241 และมาตรา 193/27คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ