แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งสหกรณ์อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานการลงรายการในสมุดบัญชีบันทึกรายการชั้นต้น และการผ่านเข้าสมุดบันทึกรายการขั้นปลายของโจทก์ร่วมในแต่ละวันให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันเสมอ ทั้งคณะกรรมการโจทก์ร่วมได้มีมติให้จำเลยมีอำนาจในการซื้อขายสินค้า รับชำระราคาและเก็บรักษาเงินของโจทก์ร่วมได้ แต่จำเลยไม่ได้ไปตรวจสอบหลักฐานการลงบัญชีเป็นประจำทุกวัน นาน ๆ จะไปตรวจสอบสักครั้งแล้วลงชื่อย้อนหลัง ทำให้บัญชีของโจทก์ร่วมมีข้อบกพร่องไม่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ไม่เป็นที่เชื่อถือ ถือได้ว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ย่อมมีความผิดตามป.อ. มาตรา 157.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒, ๑๕๗,๒๖๔, ๒๖๕, ๓๕๒, ๓๕๓, ๙๑, ๘๔ และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน๒๓๒, ๒๑๖.๗๕ บาท แก่สหกรณ์การเกษตรขุณหาญ จำกัด ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สหกรณ์การเกษตรขุญหาญ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ จำคุก ๑ ปี ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า สหกรณ์การเกษตรขุญหาญ จำกัดโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับเช่น ให้เงินกู้หรือสินเชื่อแก่สมาชิกรวบรวมผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของสมาชิก มาจัดการขายหรือแปรรูปออกขายหรือซื้อผลิตผลการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์จากสหกรณ์อื่นหรือบุคลากรอื่นมาจัดการขายหรือแปรรูปออกขาย เป็นต้น โจทก์ร่วมมีคณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก แต่จะมอบหมายให้คณะกรรมการดำเนินการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ ในระหว่างเกิดเหตุโจทก์ร่วมมีนายถวิลเป็นประธานกรรมการ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งสหกรณ์อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับโจทก์ร่วมคือ ตรวจสอบหลักฐานการลงรายการในสมุดบัญชีบันทึกรายการขั้นต้น และการผ่านเข้าสมุดบันทึกรายการขั้นปลายในแต่ละวันให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันเสมอตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์จำเลยไม่มีหน้าที่เข้าดำเนินการจัดซื้อหรือขายสินค้าเพื่อโจทก์ร่วม แต่ในคราวประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๕ จำเลยในฐานะสหกรณ์อำเภอได้ร่วมประชุมด้วยและขอมีอำนาจตัดสินใจ ที่ประชุมจึงมีมติให้จำเลยมีอำนาจในการซื้อขายสินค้า รับชำระราคาและเก็บรักษาเงินของโจทก์ร่วมได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๖ จำเลยได้สั่งให้พนักงานของโจทก์ร่วมทำใบโอนอันเป็นเอกสารทางบัญชีขึ้น ๔ ฉบับ อ้างว่า เพื่อปรับปรุงบัญชีให้ถูกต้อง โจทก์ร่วมสงสัยในการกระทำหน้าที่ของจำเลยจึงกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมหรือไม่
ในปัญหาดังกล่าว จำเลยฎีกาว่าการที่จำเลยกำกับแนะนำให้พนักงานของโจทก์ร่วมทำใบโอนขึ้นนั้น ก็เพื่อปรับปรุงบัญชีของโจทก์ร่วมให้ถูกต้องตรงกับความจริงและเป็นปัจจุบัน ถือว่าเป็นการกระทำหน้าที่ในฐานะพนักงานส่งเสริมสหกรณ์โดยถูกต้อง มิใช่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยได้แนะนำให้พนักงานของโจทก์ร่วมทำใบโอนขึ้นตามความเป็นจริงโดยมีเอกสารเป็นหลักประกอบ แต่พนักงานของโจทก์ร่วมไม่ได้นำเอกสารมาติดแนบท้ายใบโอนไว้ทำให้นายสุทิน ผู้ตรวจบัญชีไม่เห็นหลักฐานเหล่านั้น จึงไม่เชื่อถือบัญชีและไม่ยอมรับรองงบดุลปี พ.ศ. ๒๕๒๗ของโจทก์ร่วมการที่พนักงานของโจทก์ร่วมเก็บใบโอนไว้โดยไม่นำหลักฐานประกอบมาติดแนบท้ายไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งในการทำหลักฐานทางบัญชีของโจทก์ร่วม นอกจากนี้ปรากฏว่าใบโอนยังมีข้อบกพร่องในตัวเองอยู่อีก ทั้ง ๆ ที่ทำขึ้นตามคำแนะนำของจำเลยกล่าวคือ มีรายการไม่ครบถ้วน โดยสองฉบับแรกไม่มีชื่อลูกหนี้และจำนวนสินค้า ส่วนสองฉบับหลังมีชื่อลูกหนี้แต่ไม่มีจำนวนสินค้า ซึ่งการทำใบโอนโดยไม่ระบุชื่อลูกหนี้ย่อมทำให้ไม่สามารถทวงหนี้หรือเกิดความยุ่งยากในการทวงหนี้ และการไม่ระบุจำนวนสินค้าย่อมทำให้ไม่สามารถสำรวจจำนวนสินค้าที่โอนไปและที่เหลืออยู่หรือเกิดความยุ่งยากในการสำรวจจำนวนสินค้า เหล่านั้นจากความบกพร่องของใบโอนดังกล่าว เมื่อพนักงานของโจทก์ร่วมนำไปบันทึกลงสมุดรายวันทั่วไปซึ่งเป็นสมุดบัญชีบันทึกรายการขั้นต้นก็ดี นำไปผ่านเข้าบัญชีแยกประเภทซึ่งเป็นสมุดบันทึกรายการขั้นปลายก็ดี รายการที่บันทึกจึงไม่มีชื่อลูกหนี้และไม่มีจำนวนสินค้าตามไปด้วย ดังปรากฏตามสำเนาสมุดรายวันทั่วไปและสำเนาบัญชีแยกประเภท นับเป็นความบกพร่องทางบัญชีส่วนหนึ่งซึ่งทำให้บัญชีของโจทก์ร่วมไม่เป็นที่เชื่อถือการที่จำเลยไม่ได้ไปตรวจสอบหลักฐานการลงบัญชีของโจทก์ร่วมเป็นประจำวัน โดยนาน ๆ จึงจะไปตรวจสักครั้ง และบัญชีของโจทก์ร่วมถูกปล่อยปละละเลยให้มีข้อบกพร่องไม่เป็นที่เชื่อถือดังกล่าวนั้นย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยละเลยต่อหน้าที่ กล่าวคือไม่เอาใจใส่ตรวจสอบหลักฐานการลงรายการในสมุดบันทึกรายการขั้นต้น และการผ่านเข้าสมุดบันทึกรายการขั้นปลายในแต่ละวันให้ถูกต้องเป็นปัจจุบันอยู่เสมอตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๑ ปี และปรับ ๒๐,๐๐๐ บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.