คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดต่อพระราชบัญญัติ จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้ไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์ เจ้าพนักงานตำรวจก็มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้อยู่แล้ว ดังนั้น พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 และให้นับโทษของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 472/2538 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรีเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี ฐานหลอกลวงคนงาน จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปี ทางนำสืบในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี การกระทำของจำเลยทั้งสองนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังทำให้ชื่อเสียงของประเทศชาติเสื่อมเสียและทำให้คนต่างชาติดูถูกหญิงไทย จึงไม่สมควรรอการลงโทษเนื่องจากคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลยังมิได้พิพากษา คำขอส่วนนี้จึงให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่นางสาวสุรีรัตน์ อันลิ ผู้เสียหายไปทำงานร้านอาหารในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนในการจัดหางานจากผู้เสียหาย ทั้งนี้จำเลยทั้งสองกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมาย ส่วนคำฟ้องตอนหลังบรรยายว่า จำเลยทั้งสองกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายว่าสามารถหางานให้ทำในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ความจริงจำเลยทั้งสองไม่สามารถหางานให้ผู้เสียหายทำได้และการหลอกลวงทำให้จำเลยทั้งสองกับพวกได้รับเงินจากผู้เสียหายไปจำนวน 28,500 บาท อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย คงมีเจตนาหลอกลวงเพื่อได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้นั้นพยานโจทก์มีผู้เสียหาย นางพิมพา ถนอมช่อ น้าของผู้เสียหาย และนายโจ๊ะ อันลิ บิดาของผู้เสียหายเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า นางพิมพาทราบข่าวว่าจำเลยที่ 2 จะส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศจึงไปสอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 บอกว่าจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้หลายคนแล้ว ได้เงินเดือนคนละหลายแสนบาทนางพิมพาจึงไปบอกผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 และนายเกษียรโอษฐ์นภาพร สามีจำเลยที่ 1 ไปหาผู้เสียหายที่บ้านพูดชักชวนให้ผู้เสียหายไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จะได้ค่าจ้างเดือนละ 10,000บาท รางวัลพิเศษ (ค่าทิป) ต่างหาก ผู้เสียหายปรึกษานายโจ๊ะบิดาแล้ว นายโจ๊ะอนุญาตจากนั้นผู้เสียหายไปหาจำเลยที่ 1 และนายเกษียร จำเลยที่ 1 ให้ผู้เสียหายจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินเป็นเงิน 28,500 บาท ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2537 พยานทั้งสามนำเงินจำนวนดังกล่าวไปมอบให้จำเลยที่ 1 และนายเกษียรที่บ้านของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1และนายเกษียรรับเงินแล้วส่งมอบให้จำเลยที่ 2 เก็บรักษาไว้ ในที่สุดวันที่ 3 พฤศจิกายน2537 ผู้เสียหายเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ได้โดยมีนายเกษียรเดินทางไปด้วย จำเลยทั้งสองไปส่งผู้เสียหายที่สนามบินดอนเมืองเมื่อไปถึงประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นายเกษียรไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟได้นายเกษียรบอกให้ผู้เสียหายขายตัวบริการทางเพศแทนผู้เสียหายไม่ยอม เมื่อผู้เสียหายกลับมาประเทศไทยแล้ว ผู้เสียหายได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิษณุโลก เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองพูดยืนยันว่าสามารถจัดหางานให้ผู้เสียหายทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ได้ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 28,500 บาท แต่ปรากฏว่าไม่สามารถหางานให้ผู้เสียหายทำได้ตามที่หลอกลวงไว้ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่หลอกลวงผู้เสียหายว่าสามารถจัดหางานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ให้ได้ผู้เสียหายคงไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานในต่างประเทศได้สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายเพียงเพื่อประสงค์จะขอเงินคืน ไม่มีเจตนาที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่าความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานเป็นความผิดอาญาแผ่นดินแม้ไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์ เจ้าพนักงานตำรวจก็มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้อยู่แล้วดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสถาบันเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยทั้งสองเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share