แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน มีผลเท่ากับว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ก่อน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะใช้ได้ ก็ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนจนครบ ฉะนั้น โจทก์จึงต้องดำเนินการบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงจะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 689
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเงินบำนาญของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มายังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 และโจทก์ได้รับเงินบางส่วนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้และการบังคับชำระหนี้ไม่เป็นการยาก แม้จะเป็นการชำระหนี้เพียงบางส่วนแต่ก็ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่อาจบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป โจทก์จึงต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 23,541.50 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินบำนาญของจำเลยที่ 1 เดือนละ 3,600 บาท และของจำเลยที่ 2 เดือนละ 5,400 บาท ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ยังสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 1 ได้และไม่เป็นการยากที่โจทก์จะติดตามบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ทั้งโจทก์ก็ได้บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ได้อยู่แล้ว ขอให้งดการบังคับคดียกเลิกการอายัดของจำเลยที่ 2 ต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับแล้วไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้บังคับคดีจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน หากไม่พอจึงให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนการอายัดเงินบำนาญของจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงชอบที่จะขอให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองได้ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินบำนาญของจำเลยที่ 1 ไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงชอบที่จะอายัดเงินบำนาญของจำเลยที่ 2 ไปพร้อมกันได้นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน มีผลเท่ากับว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ก่อน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะใช้ได้ ก็ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนจนครบ ฉะนั้น โจทก์จึงต้องดำเนินการบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงจะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689 ในปัญหาที่ว่า โจทก์ยังสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 1 ได้และไม่เป็นการยากที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หรือไม่นั้น แม้ศาลชั้นต้นจะยกคำร้องของจำเลยที่ 2 โดยยังมิได้ไต่สวนก่อน แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 สิ้นสุดเพียงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งมายังศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านปรากฏว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเงินบำนาญของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มายังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 และโจทก์ได้รับเงินบางส่วนไปจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้และการบังคับชำระหนี้ไม่เป็นการยาก แม้จะเป็นการชำระหนี้เพียงบางส่วนแต่ก็ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่อาจบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป โจทก์จึงต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 2 ชอบที่จะขอให้เพิกถอนการอายัดเงินบำนาญของจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ