คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5460/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า บ. เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้มีชื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งโจทก์ได้ให้มารดาโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากเจ้าของที่ดินแทนโจทก์ โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อ บ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นหน้าที่ของ บ. ผู้เป็นตัวแทนจะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินที่ บ. ได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้นส่งคืนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง และเมื่อ บ. ถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องโอนที่ดินดังกล่าวส่งคืนให้แก่โจทก์ด้วย คำฟ้องของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการเรียกให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ส่งคืนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้เป็นตัวการที่ บ. ได้รับไว้อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนของโจทก์นั้นให้แก่โจทก์ อันเป็นหน้าที่ของตัวแทนที่จะต้องส่งให้แก่ตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว การฟ้องเรียกที่ดินตามคำฟ้องจากจำเลยเช่นนี้ จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับทรัพย์สินอันใดเพิ่มขึ้นใหม่แต่ประการใด และถือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดที่จะรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 154 เลขที่ดิน 4 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 งาน (200 ตารางวา) ในราคา 250,000 บาท จากนางเจียม หนูหว่าง โดยโจทก์ได้ให้นางยวง เขียดโทน มารดาโจทก์เป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำแทนโจทก์ โดยตกลงกันว่าผู้จะขายต้องไปขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินที่จะขายฉบับใหม่ต่อทางราชการ และโจทก์ได้วางมัดจำเป็นจำนวน 150,000 บาท ต่อมาผู้จะขายได้ขอแบ่งแยกที่ดินที่จะขายให้โจทก์ต่อทางราชการเสร็จสิ้นเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 6364 เลขที่ดิน 56 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 งาน ผู้จะขายจึงแจ้งให้โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำใหม่ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 โจทก์ให้นางยวงเป็นผู้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ และโจทก์ได้วางมัดจำเพิ่มอีกจำนวน 90,000 บาท ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2539 ซึ่งถึงกำหนดที่ผู้จะขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โจทก์ได้แจ้งให้ผู้จะขายโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้เป็นชื่อของนางบุญสม เจริญวงศ์ เนื่องจากโจทก์ได้ฝากให้นางบุญสมถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไว้แทนโจทก์ และตกลงกันว่าเมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนหย่ากับนางรัก เขียนโทน (สดใส) แล้ว นางบุญสมจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของโจทก์โดยทันที ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2542 นางบุญสมถึงแก่ความตาย และวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ได้จดทะเบียนหย่ากับนางรักแล้ว นางบุญสมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง แต่นางบุญสมถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางบุญสมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6364 ให้แก่โจทก์แทนนางบุญสมตามข้อตกลง ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6364 เลขที่ 56 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาในการโอนที่ดินแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์อันจะอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินบางส่วนจำนวน 200 ตารางวา ของที่ดินโฉนดเลขที่ 154 จากนางเจียม หนูหว่าง โดยโจทก์ได้ให้นางยวง เขียนโทน มารดาโจทก์เป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ เมื่อที่ดินที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้รังวัดแบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 6364 นางเจียมผู้จะขายก็ได้แจ้งให้โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายใหม่เนื่องจากที่ดินเป็นโฉนดใหม่ โจทก์จึงได้ให้นางยวงไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ เมื่อถึงกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ได้แจ้งให้นางเจียมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายให้เป็นชื่อนางบุญสม เจริญวงศ์ เนื่องจากโจทก์ฝากให้นางบุญสมถึงกรรมสิทธิ์ไว้แทนโจทก์ โดยตกลงกันว่าเมื่อโจทก์หย่ากับนางรัก เขียดโทน (สดใส) แล้ว นางบุญสมจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของโจทก์โดยทันที ต่อมานางบุญสมถึงแก่ความตาย และโจทก์ได้หย่ากับนางรักแล้ว นางบุญสมจะต้องโอนที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง จำเลยในฐานะทายาทของนางบุญสมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์แทนนางบุญสม ดังนี้ สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่านางบุญสมเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้มีชื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากนางเจียมซึ่งโจทก์ได้ให้นางยวงมารดาโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายจากนางเจียมแทนโจทก์ โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อนางบุญสมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นหน้าที่ของนางบุญสมผู้เป็นตัวแทนจะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินที่นางบุญสมได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้นส่งคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง และเมื่อนางบุญสมถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางบุญสมย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องโอนที่ดินดังกล่าวส่งคืนให้แก่โจทก์ด้วย คำฟ้องของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นการเรียกให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางบุญสมส่งคืนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผุ้เป็นตัวการที่นางบุญสมได้รับไว้อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนของโจทก์นั้นให้แก่โจทก์ อันเป็นหน้าที่ของตัวแทนที่จะต้องส่งให้แก่ตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว การฟ้องเรียกที่ดินของโจทก์ตามคำฟ้องจากจำเลยเช่นนี้ จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับทรัพย์สินอันใดเพิ่มขึ้นใหม่แต่ประการใด และถือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ในชั้นตรวจรับคำฟ้องโดยวินิจฉัยว่าเป็นคำฟ้องคดีที่มีทุนทรัพย์ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วดำเนินการต่อไป

Share