แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าจากผู้ซื้อของผู้ประกอบการค้ามีอายุความต่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ประกอบกับมาตรา 193/33 (5) กล่าวคืออายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) และห้าปีตามข้อยกเว้นในมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ที่ว่า “…เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” กรณีที่จะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวจะต้องนำกิจการหรือการงานที่ผู้ซื้อสินค้าประกอบการค้าอยู่นั้นมาพิจารณารวมกับสินค้าที่ซื้อว่า ผู้ซื้อนำสินค้านั้นไปใช้ในกิจการหรือการงานที่ผู้ซื้อประกอบการค้าหรือไม่ หากผู้ซื้อนำสินค้าที่ซื้อไปใช้ในกิจการที่ผู้ซื้อประกอบการค้าแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าของผู้ประกอบการค้ามีอายุความห้าปี ทั้งนี้ หาได้มีข้อจำกัดว่าสินค้าที่ซื้อขายกันนั้นต้องเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการค้าผลิตขึ้นเพื่อขายให้แก่ผู้ซื้อโดยเฉพาะเจาะจงไม่ แม้เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันทั่วไปในท้องตลาดก็อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายสองมาตรานี้ดุจกัน สำหรับคำว่า “กิจการ” ก็มีความหมายครอบคลุมถึงการใด ๆ ที่ได้ทำเพื่อเป็นการทำมาหาได้ ลักษณะเป็นการประกอบอาชีพ มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะต่อการเลี้ยงสัตว์เพื่อขายหรือซื้อสินค้ามาเพื่อขายต่อหรือเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่ จำเลยเป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการโรงแรมและห้องอาหารอันเป็นกิจการให้บริการและจำหน่ายอาหารแก่ผู้มาใช้บริการของโรงแรมของจำเลย สินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์ก็เป็นเครื่องอุปโภคจำพวกถ้วย โถ จาน ชาม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหารและให้บริการจำหน่ายอาหารในห้องอาหาร อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจการของจำเลย ทั้งจำเลยก็รับว่าจำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการให้บริการในกิจการของจำเลย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าซื้อสินค้ารวมเป็นเงิน 412,379.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 360,588.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 360,588.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 51,791.33 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปะอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำหรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง (2)…” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (1) … (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายสองมาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าจากผู้ซื้อของผู้ประกอบการค้ามีอายุความต่างกัน กรณีที่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย และมีอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5) ต้องนำกิจการหรือการงานที่ผู้ซื้อสินค้าประกอบการค้าอยู่นั้นมาพิจารณารวมกับสินค้าที่ซื้อว่า ผู้ซื้อนำสินค้านั้นไปใช้ในกิจการหรือการงานที่ผู้ซื้อประกอบการค้าหรือไม่ หากผู้ซื้อสินค้านำสินค้าที่ซื้อไปใช้ในกิจการที่ผู้ซื้อประการค้าแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าของผู้ประกอบการค้ามีอายุความห้าปี ทั้งนี้ หาได้มีข้อจำกัดว่าสินค้าที่ซื้อขายกันนั้นต้องเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการค้าผลิตขึ้นเพื่อขายให้แก่ผู้ซื้อโดยเฉพาะเจาะจงไม่ แม้เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันทั่วไปในท้องตลาดก็อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายสองมาตรานี้ดุจกัน สำหรับคำว่า “กิจการ” ก็มีความหมายครอบคลุมถึงการใด ๆ ที่ได้ทำเพื่อเป็นการทำมาหาได้ ลักษณะเป็นการประกอบอาชีพมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะต่อการเลี้ยงสัตว์เพื่อขายหรือซื้อสินค้ามาเพื่อขายต่อหรือเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่ ดังความเข้าใจของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการโรงแรมและห้องอาหารอันเป็นกิจการให้บริการและจำหน่ายอาหารแก่ผู้มาใช้บริการของโรงแรมของจำเลย สินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์ก็เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคจำพวก ถ้วย โถ จาน ชาม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหารและให้บริการจำหน่ายอาหารในห้องอาหาร อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจการของจำเลย ทั้งฎีกาของจำเลยก็รับว่าจำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการให้บริการในกิจการของจำเลย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่าเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปี ดังนี้ แม้จะเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ครั้งแรกถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2542 ซึ่งเป็นวันฟ้องก็ยังไม่พ้นกำหนดห้าปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน