แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การรถไฟแห่งประเทศไทยมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟฯ กรณีออกจากงานอยู่ 2 ฉบับ ซึ่งผู้ออกจากงานไม่ว่าเพราะเหตุใด (นอกจากถูกไล่ออก)อาจเลือกรับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือเป็นรายเดือนตามข้อบังคับฉบับหนึ่งฉบับใดก็ได้ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นพนักงานของการรถไฟฯ และลาออกจากงานย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินสงเคราะห์จากการรถไฟฯสุดแต่จะเลือก แม้ยังไม่เลือก เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้วิธีหนึ่ง ให้การรถไฟฯส่งเงินนั้นมายังศาลได้
ความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 ที่ว่า ทรัพย์สินของการรถไฟฯ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีนั้น มุ่งหมายถึงการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของการรถไฟฯโดยตรง กรณีที่ศาลมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์จากการรถไฟฯ หาใช่เป็นการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของการรถไฟโดยตรงไม่
ย่อยาว
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย ยื่นคำร้องว่าจำเลยเป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และลาออก มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เงินทุนสงเคราะห์และเงินสะสมจากการรถไฟฯ รวม6,500 บาท ขอให้ศาลอายัด
ศาลชั้นต้นออกหมายอายัดไปยังผู้ว่าการรถไฟฯ ผู้ว่าการรถไฟฯได้นำส่งเงินทุนสงเคราะห์หรือเงินสะสมต่อศาล 6,107 บาท และว่าสำหรับเงินบำเหน็จบำนาญของจำเลยนั้น ถ้าได้รับเรื่องและสั่งจ่ายเมื่อใดจะได้นำส่งต่อไป
ต่อมาผู้ว่าการรถไฟฯ มีหนังสือว่า เงินทุนสงเคราะห์นี้อยู่ในความควบคุมรับผิดชอบของการรถไฟฯ มีข้อบังคับควบคุมอยู่ การจะจ่ายให้ผู้ใดจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและชอบด้วยข้อบังคับ กรณีนี้จำเลยยังมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับเพื่อให้เกิดสิทธิเรียกร้อง จึงหามีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์ไม่ ทั้งเงินที่จำเลยจะพึงได้รับ จำเลยยังมีสิทธิเลือกขอรับได้ต่างวิธีกันซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัว บุคคลอื่นหามีสิทธิใช้เลือกแทนได้ไม่ จึงขัดข้องที่จะส่งเงินรายนี้ตามหมายอายัด
โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยทำหนังสือยื่นเรื่องราวขอรับเงินสะสมคืนเพียงเท่าเดียวและเขียนรายงานว่าจะขอรับเงินทุนสงเคราะห์ครั้งเดียวเพื่อเหตุทดแทน (บำเหน็จ) สิทธิร้องขอของจำเลยเกิดขึ้นแล้ว การรถไฟฯ จะต้องจ่ายเงินทุนสงเคราะห์ครั้งเดียวให้แก่จำเลย โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยขอรับเงินทุนสงเคราะห์เพื่อเหตุทดแทน (บำเหน็จ) ของจำเลยครั้งเดียวได้ ขอให้ไต่สวน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้การรถไฟฯ ส่งเงินของจำเลยซึ่งมีสิทธิจะได้รับตามข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 41 ประเภทเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวมายังศาลจังหวัดนครสวรรค์เพื่อเฉลี่ยแก่เจ้าหนี้ต่อไป
การรถไฟแห่งประเทศไทยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
การรถไฟแห่งประเทศไทยฎีกาต่อมา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นพนักงานรถไฟของการรถไฟฯมา 18 ปี ได้ลาออกจากหน้าที่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2511 การรถไฟฯมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานไว้ 2 ฉบับคือ ข้อบังคับฉบับที่ 11 และที่ 41 ตามข้อบังคับฉบับที่ 11 ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานต้องออกจากงานไม่ว่าเพราะเหตุใด (นอกจากถูกไล่ออก) ให้จ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานนั้นตามจำนวนที่ได้เก็บจากผู้ปฏิบัติงานไว้รวมทั้งดอกเบี้ยและให้กองทุนจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นจำนวนเท่ากันส่วนฉบับที่ 41 ผู้ปฏิบัติงานหากได้รับอนุญาตให้ลาออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือเป็นรายเดือนโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการและจะได้รับคืนเงินที่ถูกเก็บไว้ตามข้อบังคับฉบับที่ 11 เพียงเท่าจำนวนที่หักไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยกองทุนจะไม่จ่ายสมทบให้อีกหนึ่งเท่า จำเลยคดีนี้มีสิทธิได้รับเงินตามข้อบังคับฉบับที่ 11 หรือ 41 อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ยังมิได้ยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์ว่าจะขอรับตามข้อบังคับฉบับใด
มีปัญหาว่า โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดให้การรถไฟฯ ส่งเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวเพื่อชำระหนี้ได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความตามทางไต่สวนของโจทก์ว่าจำเลยทำงานเพียง 18 ปี ไม่มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์ที่จ่ายให้เป็นรายเดือน หากแต่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียว นายยุกต์ผู้อำนวยการฝ่ายการบัญชีของการรถไฟฯ เบิกความว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ลาออกจากงานแล้ว มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับฉบับที่ 11 หรือฉบับที่ 41 แล้วแต่จำเลยจะเลือก ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะให้การรถไฟฯ จ่ายเงินสงเคราะห์ จะโดยวิธีตามข้อบังคับฉบับที่ 11 หรือฉบับที่ 41 ก็ดี ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่จำเลยได้รับอนุญาตให้ลาออกจากงาน การรถไฟฯ จึงเป็นหนี้จำเลยอยู่ตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยดังกล่าวฟังได้ว่า หนี้ที่เรียกร้องนั้นมีอยู่จริง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวตามสิทธิเรียกร้องที่จำเลยมีอยู่ต่อการรถไฟฯ วิธีหนึ่ง ให้การรถไฟฯ ส่งเงินนั้นมายังศาลได้ทั้งนี้ ไม่จำต้องให้จำเลยยื่นแบบขอเลือกรับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับฉบับใดจากการรถไฟฯ ก่อน เพราะเป็นกรณีที่การรถไฟฯ ปฏิบัติไปตามคำสั่งอายัดของศาล
การรถไฟฯ ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า เงินกองทุนสงเคราะห์เป็นทรัพย์สินของการรถไฟฯ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ตราบใดที่ยังไม่มีการสั่งจ่ายเงินออกจากกองทุนสงเคราะห์ บุคคลใดจะยึดหรืออายัดมิได้นั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ที่ว่า ทรัพย์สินของการรถไฟฯ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีนั้น มุ่งหมายถึงการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของการรถไฟฯ โดยตรง ส่วนกรณีนี้เป็นเรื่องศาลมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยซึ่งมีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์จากการรถไฟฯ ดังได้วินิจฉัยแล้ว หาใช่เป็นการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของการรถไฟฯ โดยตรงแต่อย่างใดไม่ ศาลล่างให้อายัดเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวของจำเลยชอบแล้ว
พิพากษายืน