คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม ม.136,137,138 ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาทุจริต
กำนันเรียกค่าเปรียบเทียบความโดยเข้าใจว่ามีสิทธิเรียกได้ดังนี้ ไม่มีความผิด
ปัญหาว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ข้อกฎหมายที่ไม่ยอมให้จำเลยยกเอาข้อที่ตัวไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดนั้น จะใช้ยันจำเลยได้ต่อเมื่อจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ความผิดอันต้องมีโทษตาม ก.ม.ทุกประการแล้ว

ย่อยาว

คดีได้ความว่า จำเลยเป็นกำนันได้เปรียบเทียบกรณีที่นางปุ้ย เก็บเอาบัวลดน้ำของนางอ่อนไว้ว่าเป็นลักทรัพย์ให้นางปุ้ยเสียค่าสินไหมให้แก่นางอ่อน ๒๐ บาท แล้วจำเลยเรียกเงินค่าขึ้นศาลกำนัน ๑ บาท ๒๐ สตางค์ และชักเงินค่าสินไหมไว้อีก ๔ บาท และทำบันทึกข้อตกลงยอมความให้ทั้งสองฝ่ายลงชื่อไว้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเจตนาทุจจริตต่อหน้าที่ ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๑๓๖,๑๓๗ และ ๑๓๘
ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์คงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจจริต เพราะเดิมเมื่อเป็นดินแดนของฝรั่งเศสนั้น กำนันมีอำนาจเปรียบเทียบและชักเงินค่าธรรมเนียมได้ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่า จำเลยจะอ้างความไม่รู้กฎหมายไทยว่า กำนันเปรียบเทียบไม่ได้ แล้วมาอ้างให้พ้นผิดไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามที่โจทก์หาตาม ม.๑๓๖,๑๓๗ และ ๑๓๘ แห่ง ก.ม. ลักษณะอาญานั้น จะต้องปรากฎว่าผู้กระทำมีเจตนาทุจจริตเป็นองค์ประกอบ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยไม่มีเจตนาทุจจริต จึงเป็นอันยุตติเพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกา คดีต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๔๕ ที่บัญญัติมิให้ยกเอาข้อที่ไม่รู้กฎหมายมาแก้ตัวให้พ้นผิดนั้น ย่อมหมายความว่าบุคคลได้กระทำผิดครบองค์ความผิดทุกประการแล้ว แต่หากอ้างว่าไม่รู้ตัวกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด ซึ่งไม่ได้กรณีนี้ฎีกาโจทก์สั่งไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share