แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อครบอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าคงอยู่ในที่เช่าต่อไป ผู้ให้เช่ารู้แล้วไม่ท้วงถือว่ามีการทำสัญญาใหม่ซึ่งไม่มีกำหนดเวลา ส่วนข้อสัญญาอื่นของสัญญาใหม่นี้คงเป็นอย่างเดียวกับในสัญญาเช่าเดิม อ้างฎีกาที่ 1448/2503
เมื่อผู้ให้เช่ามีสิทธิเลิกสัญญาตามข้อความในสัญญา ผู้ให้เช่าใช้สิทธินั้นได้โดยไม่ต้องบอกเลิกตามวิธีใน ป.พ.พ.มาตรา 566.
หมายเหตุ : คำพิพากษาฎีกาที่ 136/2503 ระหว่างนายประวิทย์ ศรีธัญรัตน์ โจทก์ นายกิมจั๊ว แซ่ซือ จำเลย ก็วินิจแัยไว้อย่างเดียวกับคดีนี้ด้วย.
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงมีว่า โจทก์ให้จำเลยเช่าห้องสองห้อง จำเลยใช้ประกอบการค้า สัญญาเช่ามีหลักฐานเป็นหนังสือ สัญญาข้อ ๙ มีใจความว่า ถ้าจำเลยจะประกันอัคคีภัยสำหรับทรัพย์สินซึ่งอยู่ในที่เช่า จะต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน และต้องประกันตัวอาคาร โดยเสียเบี้ยประกันแทนโจทก์ด้วย สัญญาข้อ ๑๒ มีความว่า ถ้าจำเลยผิดสัญญาข้อใด ยอมให้โจทก์เลิกสัญญานี้ และให้ถือว่าสัญญาระงับทันที เมื่อครบอายุสัญญาแล้ว ทั้งสองฝ่ายคงฏิบัติต่อกันตามเดิม ต่อมาจำเลยเอาทรัพย์สินในที่เช่าไปประกันอัคคีภัยโดยไม่ได้เอาห้องเช่าประกันด้วย โจทก์บอกเลิกการเช่าเป็นหนังสือต่อจำเลย แล้วจึงฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ชนะเต็มตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีเป็นการทำสัญญาใหม่ ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕๗๐ ข้อสัญญาอื่น ๆ ต้องเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม ฉะนั้น สัญญาข้อ ๙ และ ๑๒ ดังกล่าวจึงยับใช้บังคับจำเลยได้ อ้างฎีกาที่ ๑๔๔๘/๒๕๐๓
ส่วนการเลิกสัญญาแม้จะถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕๖๖ แล้วก็ตาม แต่ต้องถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ ๑๒ แล้ว ซึ่งเมื่อโจทก์มีสิทธิทำได้ตามข้อสัญญานั้น ฉะนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อสัญญาเช่าระงับไปเพราะการบอกเลิกแล้ว จำเลยขืนอยู่จึงเป็นละเมิด ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้
พิพากษายืน.