คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5458/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าฝ่ายจำเลยแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจำเลยตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 โดยจำเลยเห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามกฎหมาย โจทก์โต้แย้งว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โรงเรือนนั้น ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ดังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 7(2) ประกอบด้วยมาตรา 3 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาล คดีโจทก์มิใช่เป็นคดีแพ่งลักษณะละเมิดศาลแพ่งจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีโจทก์ ตามมาตรา 10วรรคแรก การที่ศาลแพ่งสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์เพราะสิทธิของโจทก์ถูกกำจัดห้ามโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาลจึงเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ผู้พิพากษานายเดียวย่อมมีอำนาจสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 21(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นข้าราชการประจำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตยานนาวา จำเลยที่ 3ดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2530จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2525-2527 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2ทราบว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินและโรงเรือนและมิได้เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์แต่อย่างใด โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่แจ้งไป ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำหลักฐานไปแสดงภายใน 7 วัน ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนพิพาท โจทก์ได้ส่งหลักฐานไปให้จำเลยที่ 2 เพื่อตรวจสอบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือใบแจ้งคำชี้ขาดกำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับผิดเสียภาษีสำหรับโรงเรือนดังกล่าว ซึ่งใบแจ้งคำชี้ขาดดังกล่าวจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อมิได้ตรวจสอบหลักฐานเพื่อกำหนดให้บุคคลผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแต่กลับใช้สิทธิตามอำนาจหน้าที่กำหนดให้โจทก์ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้รับประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินนี้ซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องจากโจทก์และให้ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง จึงไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณาคืนค่าขึ้นศาลตามระเบียบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์นั้นกล่าวอ้างว่าฝ่ายจำเลยแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจำเลยตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 โดยจำเลยเห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนเลขที่ 228/1 ถนนรัชดาภิเษกแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามกฎหมาย แต่โจทก์ไม่ได้ชำระภาษีโรงเรือนปี 2525-2527 โจทก์โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โรงเรือนนั้น ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ ดังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(2)ประกอบด้วยมาตรา 3 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาล คดีโจทก์จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง คดีโจทก์มิใช่เป็นคดีแพ่งลักษณะละเมิดตามที่โจทก์ฎีกาศาลแพ่งจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 10 วรรคแรก และการที่ศาลแพ่งสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์เพราะสิทธิของโจทก์ถูกกำจัดห้ามโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาลจึงเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ผู้พิพากษานายเดียวย่อมมีอำนาจสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 21(2)
พิพากษายืน

Share