คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5456/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นจดคำให้การจำเลยว่า ขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้องข้อหารับของโจร แม้คำให้การดังกล่าวจะเป็นแบบพิมพ์ซึ่งมีข้อความเดิมว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง และมีการเติมคำว่า “รับของโจร” ด้วยลายมือ โดยไม่มีผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายได้ว่าจำเลยขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้องข้อหารับของโจร โดยโจทก์ได้ลงชื่อไว้ในคำให้การของจำเลยและตามรายงานกระบวนพิจารณาในแบบพิมพ์เดียวกันก็ระบุไว้ว่าศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามที่ศาลบันทึกไว้ ย่อมชัดเจนว่าจำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหารับของโจร และต้องถือว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 หากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้ง ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไป เมื่อโจทก์จำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน และโจทก์จำเลยได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจที่จะสืบพยานในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จึงลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดนี้ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยได้เพียงข้อหารับของโจรเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติลาว เชื้อชาติลาว มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ที่ตำบลและอำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดมุกดาหาร โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง และไม่ได้เดินทางเข้ามาตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองเขตท่า สถานี หรือท้องที่และกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาทั้งไม่มีเหตุได้รับการยกเว้นโทษตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลและอำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดมุกดาหาร และเมื่อระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 2549 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 1 กันยายน 2549 ต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าว สัญชาติลาว อยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลและอำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดมุกดาหาร และที่แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน และเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 เวลากลางวัน มีคนร้ายลักเอาเช็คธนาคารทหารไทย สาขาถนนเพชรเกษมบางแค เลขที่ 8785864 ถึงเลขที่ 8785900 รวม 35 ฉบับ ราคา 555 บาท ของนายประภาสผู้เสียหายไปและในวันเดียวกัน จำเลยรับของโจร โดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งเช็คธนาคารทหารไทย สาขาถนนเพชรเกษม-บางแค เลขที่ 8785864 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2549 สั่งจ่ายเงิน 30,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ แล้วได้นำเอาเช็คฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินที่ธนาคารทหารไทย สาขาถนนเพชรเกษม-บางแค เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 เวลากลางคืนและกลางวันต่อเนื่องกัน เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยรับของโจร โดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งเช็คธนาคารทหารไทย สาขาถนนเพชรเกษม-บางแค เลขที่ 8785865 ลงวันที่ 1 กันยายน 2549 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ แล้วได้นำเอาเช็คฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินที่ธนาคารทหารไทย สาขาถนนเพชรเกษม-บางแค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12, 18, 62, 81 ประมวลกฎหมายอาญา 357, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12 (1), 18 วรรคสอง, 58, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 เดือน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 เดือน ฐานรับของโจรจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ชอบหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และฐานรับของโจร โดยขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12, 18, 62, 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 91 ซึ่งข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำให้การของจำเลยเป็นการรับสารภาพว่ากระทำความผิดเฉพาะข้อหารับของโจรตามฟ้องเพียงข้อหาเดียว จึงพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ซึ่งมีข้อความเดิมว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง แต่มีการเติมคำว่า “รับของโจร” ด้วยลายมือ โดยไม่มีผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ ต้องฟังว่าจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น จึงต้องพิพากษาลงโทษจำเลยตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นจดคำให้การจำเลยว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้องข้อหารับของโจร แม้คำให้การดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ซึ่งมีข้อความเดิมว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง และมีการเติมคำว่า “รับของโจร” ด้วยลายมือ โดยไม่มีผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่ตามคำให้การของจำเลยก็สามารถสื่อความหมายได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้องข้อหารับของโจร โดยโจทก์ได้ลงชื่อไว้ในคำให้การของจำเลย และตามรายงานกระบวนพิจารณาในแบบพิมพ์เดียวกันก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามที่ศาลบันทึกไว้ คำให้การฉบับนี้ย่อมชัดเจนว่าจำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาความผิดฐานรับของโจร และต้องถือว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 หากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้ง โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไปเพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย เมื่อโจทก์จำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน และโจทก์จำเลยได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจที่จะสืบพยานในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จึงฟังลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดนี้ไม่ได้คงฟังลงโทษจำเลยได้เพียงข้อหาความผิดฐานรับของโจรเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดฐานรับของโจรเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 กรรมหนึ่ง กับกระทำความผิดฐานรับของโจรเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 อีกกรรมหนึ่ง จึงเป็นฟ้องในการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระแยกออกจากกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร และคดีไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องสืบพยานโจทก์อีก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดฐานรับของโจร 2 กรรม ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรแต่เพียงกรรมเดียวนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขในเรื่องโทษให้ผิดไปจากที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share