แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำแถลงของผู้ร้องว่าส่งให้โจทก์หากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้นั้นจะถือว่าศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วยหาได้ไม่กรณีเช่นนี้เพียงแต่ผู้ร้องนำเงินค่าธรรมเนียมในการส่งไปชำระแก่เจ้าหน้าที่ก็ถือว่าผู้ร้องได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์แล้วกรณีไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-7775 พระนครศรีอยุธยา อ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถบรรทุกดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องขอให้เพิกถอนการยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ว่าให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายใน 5 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์วันที่ 17 กรกฎาคม 2538 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้เพราะผู้จัดการโจทก์ไม่อยู่และไม่มีผู้รับแทน ศาลชั้นต้นสั่งว่า รอผู้ร้องแถลง วันที่20 กรกฎาคม 2538 ผู้ร้องยื่นคำแถลงว่าโจทก์ยังมีภูมิลำเนาตามคำร้องขอให้ส่งใหม่ หากส่งไม่ได้ขอให้ปิดหมายศาลชั้นต้นสั่งคำแถลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 ว่า ส่งให้โจทก์ใหม่ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ วันที่ 5 กันยายน 2538 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องหรือผู้แทนผู้ร้องไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 ว่า เสนอศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง วันที่ 13 กันยายน 2538 ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ วันที่ 22 กันยายน 2538 ผู้ร้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องได้นำหมายต่อเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีแล้วตามภาพถ่ายหลักฐานท้ายคำแถลง ขอให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ต่อไป ศาลชั้นต้นได้ส่งคำแถลงดังกล่าวไปศาลอุทธรณ์ก่อนที่มีคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ผู้ร้องทิ้งฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ผู้ร้องเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ว่า รับอุทธรณ์ของผู้ร้อง สำเนาให้โจทก์ ให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายใน 5 วัน นับแต่วันนี้ ถ้าส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วันนับแต่วันส่งไม่ได้มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวนี้ผู้ร้องได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วโดยจะเห็นได้จากการที่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่17 กรกฎาคม 2538 ว่า ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้เพราะผู้จัดการโจทก์ไม่อยู่และไม่มีผู้รับแทน ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 ว่า รอผู้ร้องแถลง และผู้ร้องได้ยื่นคำแถลงในวันเดียวกันยืนยันว่า โจทก์ยังมีภูมิลำเนาตามคำร้องขอให้ส่งใหม่หากส่งไม่ได้ขอให้ปิดหมายและศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 ว่า ส่งให้โจทก์ใหม่ หากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นในครั้งหลังนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องนำส่งเหมือนกับที่สั่งรับอุทธรณ์ในครั้งแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคสองก็บัญญัติแต่เพียงว่า “คำฟ้องนั้น ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการส่งส่วนการนำส่งนั้น โจทก์จะนำส่งหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่ศาลจะสั่งให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่ง ถ้าศาลมิได้สั่งให้จัดการนำส่งด้วย ก็ให้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่เสียค่าธรรมเนียมในการส่ง” ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำแถลงของผู้ร้องว่า ส่งให้โจทก์ใหม่หากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้นั้นจะถือว่าศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วยหาได้ไม่กรณีเช่นนี้เพียงแต่ผู้ร้องนำเงินค่าธรรมเนียมในการส่งไปชำระแก่เจ้าหน้าที่ก็ถือได้ว่าผู้ร้องได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎตามคำแถลงของผู้ร้องว่าผู้ร้องได้นำเงินค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาอุทธรณ์ไปชำระแก่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีโดยมีหลักฐานการรับเงินมาแสดง ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำแถลงของผู้ร้องกรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ ชอบที่ศาลจะต้องไต่สวนเพื่อให้ได้ความจริงแน่ชัดเสียก่อนมีคำสั่ง”
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำแถลงของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2538แล้วมีคำสั่งใหม่ต่อไปตามรูปคดี