แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 ซึ่งขณะนั้นมีประกาศกรุงเทพมหานครฯ แก้ไขบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทว่ามีราคาประเมินตารางวาละ 45,000 บาท ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการขายที่ดินพิพาทจะต้องถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดินโดยถือว่าราคาประเมินที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49 ทวิ ไม่ว่าโจทก์และพันตรี ส. จะซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคาใดก็ตาม การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทในราคาตารางวาละ 4,000 บาท ย่อมทำให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไป เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องครบถ้วนได้
การที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วน เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทผิดพลาดต่ำกว่าราคาประเมินที่แท้จริง ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ กค 0706.10/ก03/ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ1/2/7/2558 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 และให้งดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพิสิษฐ์หรือดำเนิน ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งให้นายพิสิษฐ์ เป็นผู้อนุบาล จำเลยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 204300 ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร โจทก์จดทะเบียนขาย (ระหว่างเช่า) ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่พันตรีเสน่ห์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทตารางวาละ 4,000 บาท รวมราคาประเมินทั้งแปลงเป็นเงิน 3,154,800 บาท โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 122,740 บาท ค่าธรรมเนียม 63,096 บาท ค่าอากรแสตมป์ 17,505 บาท เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนการขายที่ดิน (ระหว่างเช่า) ให้โจทก์และพันตรีเสน่ห์ในวันเดียวกัน ต่อมาสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน มีหนังสือด่วนที่สุดแจ้งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมและภาษีอากรเพิ่มเติม โดยอ้างว่าตามที่โจทก์ได้จดทะเบียนขาย (ระหว่างเช่า) ที่ดินพิพาทให้แก่พันตรีเสน่ห์และเจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาที่ดินในการจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวตารางวาละ 4,000 บาท นั้น ปรากฏว่า สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ได้รับแจ้งจากกรมที่ดินว่า สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ได้แจ้งให้ทราบว่าที่ดินของโจทก์มีการประเมินราคาที่ดินใหม่ตามประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 29 มีนาคม 2548 โดยยกเลิกราคาประเมินที่ดินพิพาทจากตารางวาละ 4,000 บาท และให้ใช้ราคาประเมินใหม่เป็นตารางวาละ 45,000 บาท ดังนั้น ในการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาท จึงต้องใช้ราคาประเมินใหม่ คิดเป็นราคาประเมินที่ดินทั้งแปลงที่ใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ 35,491,500 บาท โจทก์จึงต้องชำระค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและค่าอากรแสตมป์เพิ่มเติม ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0510.1/3235 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังกรมที่ดิน อ้างว่า การแก้ไขบัญชีกำหนดราคาประเมินที่ดินของโจทก์ใหม่จากตารางวาละ 4,000 บาท เป็น 45,000 บาท ไม่ใช่เป็นความผิดของผู้ซื้อและผู้ขาย และไม่ทราบว่ามีการประเมินราคาใหม่ โจทก์ไม่มีเงินชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและอากรแสตมป์เพิ่มเติม โจทก์ยืนยันขอเสียค่าธรรมเนียมและภาษีอากรในอัตราเดิม มิฉะนั้นก็ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนขายไป กรมที่ดินได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่โจทก์อ้างมิใช่เป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญในการทำนิติกรรม การประเมินราคาที่ดินเป็นเพียงการกำหนดทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ ตามหนังสือของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ที่ มท 0510.1/297 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2549 ต่อมาโจทก์และพันตรีเสน่ห์ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครกับพวก ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งการเก็บค่าธรรมเนียมและเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินพิพาท ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายและเพิกถอนหนังสือเรียกให้ชำระค่าธรรมเนียมและชำระค่าธรรมเนียม (เพิ่มเติม) ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้ เป็นไม่เพิกถอนการจดทะเบียนขาย (ระหว่างเช่า) ที่ดินพิพาท ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากราคาประเมินที่ดินพิพาทที่สำนักงานที่ดินใช้ในการคำนวณเรียกเก็บภาษีอากรเพื่อกรมสรรพากรขาดไป 32,336,700 บาท มีผลให้การเก็บภาษีตามมาตรา 48 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ครบถ้วน โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้ เพิ่มเติม 4,115,984.98 บาท และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร 4,115,984.98 บาท รวม 8,231,969.96 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมจากการขายที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การจะถือว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เจ้าพนักงานประเมินต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จริงหรือไม่เพียงใด เมื่อโจทก์มีเงินได้จากการขายที่ดินพิพาทเพียง 3,500,000 บาท โจทก์จึงมีเงินได้พึงประเมิน 3,500,000 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นเจ้าพนักงานประเมิน ตามประกาศกระทรวงการคลังแจ้งราคาประเมินที่ดินพิพาทตารางวาละ 4,000 บาท ราคาทั้งแปลงเป็นเงิน 3,154,800 บาท โจทก์จึงตกลงขายที่ดินพิพาทไปในราคา 3,500,000 บาท โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทมีราคาประเมินตามที่โจทก์ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่ดิน การสำคัญผิดในราคาที่ดินพิพาทเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องและผิดพลาดของเจ้าพนักงานที่ดิน โจทก์ไม่ได้มีเจตนาขายที่ดินให้แก่พันตรีเสน่ห์ในราคา 35,491,500 บาท และโจทก์ไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว เงินได้พึงประเมินที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการขายที่ดิน 3,500,000 บาท เท่านั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า มาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ในกรณีที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทน ไม่ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ให้เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น” โจทก์ขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 ซึ่งขณะนั้นมีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง แก้ไขบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรายแปลง พ.ศ.2547 ถึง พ.ศ.2550 แก้ไขราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทว่ามีราคาประเมินตารางวาละ 45,000 บาท ตามประกาศกรุงเทพมหานครและบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ดังนั้นในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการขายที่ดินพิพาทจะต้องถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดินโดยถือว่าราคาประเมินที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ไม่ว่าโจทก์และพันตรีเสน่ห์จะซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคาใดก็ตาม ที่ดินพิพาทจึงมีราคาประเมิน 35,491,500 บาท การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทในราคาตารางวาละ 4,000 บาท รวมราคาประเมินที่ดินทั้งแปลงเพียง 3,154,800 บาท ย่อมทำให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไป เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องครบถ้วนได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการต่อไปว่า มีเหตุลดหรืองดเงินเพิ่มหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า เหตุที่โจทก์ไม่ได้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามการประเมินเพราะโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลแพ่งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินระหว่างโจทก์กับพันตรีเสน่ห์ โจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งแจ้งราคาประเมินผิดพลาด โจทก์ชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ครบถ้วนตามที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินเรียกเก็บแล้ว โจทก์ไม่มีเจตนาไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใดนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วน เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทผิดพลาดต่ำกว่าราคาประเมินที่แท้จริง ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาไม่ลดหรืองดเพิ่มให้แก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้งดเงินเพิ่มแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ