คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10272/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยเป็นฝ่ายโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์พา อ. นั่งซ้อนท้ายไปรับผู้เสียหายที่ 1 หน้าโรงเรียนและพาออกนอกเส้นทางไปที่ร้านถ่ายรูป และไปขายบริการที่โรงแรมก็ดี และมีการรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้าน ด. ก็ดี แล้วผู้เสียหายที่ 1 ถูก อ. กระทำชำเราล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยกับ อ. ได้นัดกันไว้แล้วล่วงหน้า แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมสมัครใจเดินทางไปทุกหนแห่งกับจำเลยและ อ. รวมทั้งยินยอมให้ อ. กระทำชำเราก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 1 มิได้ตกลงยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก้าวล่วง กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุเพียง 14 ปีเศษ ความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 หาได้มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่
ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุสิบแปดปี ตาม ปอ. มาตรา 74 (5) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยให้กลับตนเป็นคนดี แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีอายุครบสิบแปดปี ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมได้ จึงสมควรที่จะดำเนินการแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 74 ประการอื่นที่เหมาะสมแก่จำเลย โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยให้มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตามและเพื่อให้จำเลยหลาบจำตามมาตรา 74 (2) เห็นสมควรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยตามมาตรา 74 (3) ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนเริ่มสืบพยาน นางสาว ว. ผู้เสียหายที่ 1 และนาง พ. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ต่อมาผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (5) ให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) ขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี นับแต่วันพิพากษา แต่อย่าให้เกินกว่าจำเลยมีอายุครบสิบแปดปี โดยคิดหักวันที่ควบคุมตัวให้ด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา วันเกิดเหตุนาย ธ. ซึ่งเป็นหลานของผู้เสียหายที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งที่โรงเรียนเพื่อไปสอบประจำภาคแต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้เข้าสอบและไม่กลับบ้าน รวมทั้งผู้เสียหายที่ 2 ไม่สามารถติดต่อได้ จึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรว่าผู้เสียหายที่ 1 หายไป หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน ผู้เสียหายที่ 2 กับพวกติดตามพบผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านนาย ด. จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท ช. พนักงานสอบสวน มีการส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปตรวจร่างกาย พันตำรวจโท ช. ทำการสอบสวนได้ความว่า จำเลยและนาย อ. ร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร จึงขอออกหมายจับนาย อ. ต่อมาจำเลยเข้ามอบตัว มีการแจ้งข้อกล่าวหา จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้หรือไม่ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งจำต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังยิ่งก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเพียง 14 ปีเศษ และยังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียน ห. แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความเป็นขั้นเป็นตอนถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เสียหายที่ 1 ในวันเกิดเหตุ เริ่มตั้งแต่มีการโทรศัพท์นัดหมายกันระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 แล้ว จำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์มารับผู้เสียหายที่ 1 ที่บริเวณหน้าโรงเรียน ห.ที่ผู้เสียหายที่ 1 ศึกษาอยู่ โดยมีนาย อ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วย หลังจากนั้นนาย อ. ก็เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยและผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ระหว่างทางนาย อ. ก็แยกตัวไป จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่โรงแรม ซึ่งที่โรงแรมแห่งนี้ผู้เสียหายที่ 1 ถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ หลังจากนั้นจำเลยก็มารับผู้เสียหายที่ 1 แล้วส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 ให้นาย อ. รับไป หลังจากนั้นนาย อ. ก็พาผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้านนาย ด. ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2555 จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2555 ที่ผู้เสียหายที่ 2 ตามไปพบและนำตัวผู้เสียหายที่ 1 กลับมาได้ แต่ในระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 1 พักอยู่ที่บ้านนาย ด. นาย อ. ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ข้อความต่าง ๆ ที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่สมควรในทางเพศ และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตัวผู้เสียหายที่ 1 และครอบครัว รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อชีวิตและอนาคตของผู้เสียหายที่ 1 ในภายภาคหน้า ทั้งยังมีผลต่อการมีคู่ครองของผู้เสียหายที่ 1 เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังคงเบิกความยืนยันถึงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ทั้งยังนำเจ้าพนักงานตำรวจไปชี้สถานที่ต่าง ๆ ตามคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 จึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง สำหรับพฤติการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยไปในสถานที่ต่าง ๆ โดยมีนาย อ. ร่วมเดินทางไปด้วย รวมทั้งการที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปขายบริการทางเพศ หลังจากนั้นนาย อ. ก็พาผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้านนาย ด. และได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 มีโอกาสที่จะแยกตัวไปจากจำเลยและนาย อ. หรือหลบหนีออกไปจากบ้านนาย ด. ได้ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่กระทำซึ่งดูประการหนึ่งจะทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีข้อพิรุธ ไม่มีน้ำหนักรับฟังไม่ได้ดังข้อที่จำเลยฎีกา นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ทั้งผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยต่างมีอายุ 14 ปีเศษ อยู่ในช่วงวัยรุ่นวัยคะนอง มีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องเพศ พฤติการณ์ที่จำเลยพานาย อ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ 1 และพาออกนอกเส้นทางที่จะไปร้านถ่ายรูปและพากันไปจนไปถึงโรงแรมก็ดีและมีการรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้านนาย ด. ก็ดี ล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยกับนาย อ. ได้ตกลงนัดหมายกันไว้แล้วล่วงหน้า ในส่วนผู้เสียหายที่ 1 แม้จะเบิกความว่า จำเลยชักชวนให้พาไปร้านถ่ายรูป แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังร่วมเดินทางไปกับจำเลยและนาย อ. แม้เป็นการเดินทางออกนอกเส้นทางที่ตกลงกันไว้ ชี้ให้เห็นว่าตัวผู้เสียหายที่ 1 เองก็ยินยอมสมัครใจเดินทางไปทุกหนแห่งกับจำเลยและนาย อ. รวมทั้งยินยอมให้นาย อ. กระทำชำเราด้วย ด้วยเหตุนี้การที่ผู้เสียหายที่ 1 ละโอกาสที่จะปกป้องตนเองจึงหาทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีพิรุธไม่ ส่วนการที่บันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งเป็นคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีข้อความระบุถึงการที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปขายบริการทางเพศ ที่โรงแรมนั้น ก็ปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจโท ช. พนักงานสอบสวนว่า เหตุที่พยานไม่ระบุข้อความที่ผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปขายบริการบนห้องพัก เพราะไม่มีพยานหลักฐานในส่วนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ปากนี้ก็เบิกความรับรองว่าในชั้นสอบสวน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 นำชี้ที่เกิดเหตุบริเวณหลังโรงแรม ผู้เสียหายที่ 1 ยืนยันว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 มาขายบริการที่โรงแรม ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ได้รับเงินประมาณ 2,000 บาท แต่ผู้เสียหายที่ 1 เห็นมีการให้เงินกัน 10,000 บาทเศษ ในวันนั้นพยานโจทก์ขอความร่วมมือจากทางโรงแรมโดยขอดูโทรทัศน์วงจรปิด แต่โรงแรมไม่ให้ความร่วมมือ คำเบิกความของพันตำรวจโท ช. พนักงานสอบสวนจึงทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่ยืนยันว่าในชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 1 ได้ให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปขายบริการทางเพศที่โรงแรมแล้ว มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังและเอกสารมิได้ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีน้ำหนักลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่โรงแรมเพื่อค้าประเวณี หลังจากนั้นนาย อ. มารับผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ที่บ้านนาย ด. นานหลายวัน ซึ่งในระหว่างนั้นนาย อ. ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง แม้ผู้เสียหายที่ 1 เต็มใจไปด้วยกับจำเลยและยินยอมให้นาย อ. กระทำชำเราก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ 1 มิได้ตกลงยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก้าวล่วง กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และขณะเกิดเหตุคดีนี้ ผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเพียง 14 ปีเศษ ความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 หาได้มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเพื่อการอนาจาร ข้อที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีพิรุธ ไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง ก็ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วข้างต้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุน มิใช่ตัวการนั้นเห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยเป็นฝ่ายโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์โดยมีนาย อ. นั่งซ้อนท้ายไปรับผู้เสียหายที่ 1 ที่บริเวณหน้าโรงเรียนแล้ว นาย อ. เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ออกไปโดยมีจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ระหว่างทางนาย อ. จอดรถแล้วแยกตัวไป จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่โรงแรม หลังจากนั้นจำเลยก็โทรศัพท์นัดหมายให้นาย อ. มารับผู้เสียหายที่ 1 ที่โรงแรม แล้วพาผู้เสียหายที่ 1 ไปพักค้างคืนที่บ้านนาย ด. ส่วนจำเลยแยกกลับบ้านไป จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดแล้ว หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า กรณีมีเหตุอันควรงดส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี แต่อย่าให้เกินกว่าจำเลยมีอายุครบสิบแปดปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (5) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยให้กลับตนเป็นคนดีนั้นย่อมเหมาะสมกันแล้ว แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีอายุครบสิบแปดปีแล้ว ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 (จังหวัดราชบุรี) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (5) ได้ จึงสมควรที่จะดำเนินการแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ประการอื่น ที่เหมาะสมแก่จำเลย โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยให้มารดาหรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตามและเพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นสมควรกำหนดวิธีดำเนินการและเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลยด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้มารดาหรือผู้ปกครองจำเลยรับตัวจำเลยไปอบรมสั่งสอนและดูแลระมัดระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้าย หรือกระทำความผิดอาญาใด ๆ ขึ้นอีกภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง หากจำเลยก่อเหตุร้าย หรือกระทำผิดอาญาอีก มารดาหรือผู้ปกครองจำเลยจะต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 10,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (2) และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 3 ปี ทุกครั้ง ที่ไปรายงานตัว ให้ตรวจปัสสาวะจำเลยเพื่อหาสารเสพติด ให้จำเลยนำผลการศึกษาทุกภาคการศึกษาแสดงต่อศาลชั้นต้น ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับเพื่อนที่ไม่ดี ห้ามออกนอกบ้านในเวลากลางคืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ห้ามเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน ห้ามเล่นการพนัน กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 36 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share