คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่าการประทับ บัตรบันทึกเวลาแทนผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นประทับบัตรบันทึกเวลาแทน เป็นความผิดร้ายแรง จะถูกลงโทษโดยการไล่ออก เป็นระเบียบเกี่ยวกับ การทำงานที่นายจ้างกำหนดเพื่อใช้บังคับแก่ลูกจ้างจึงเป็นข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยได้กระทำขึ้น และมีผลใช้บังคับได้ ตามกฎหมาย แต่จำเลยจะจ่ายค่าชดเชยกรณีนี้หรือไม่ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) โดยหากการฝ่าฝืนข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรง ก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่หากเป็นกรณีไม่ร้ายแรง ซึ่งจำเลยเคยเตือนลูกจ้างแล้ว และลูกจ้าง ยังกระทำซ้ำคำเตือนอีกจำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเช่นกัน แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะกำหนดให้การฝ่าฝืนเป็นความผิดอย่างร้ายแรงก็ตาม แต่ได้ความว่าโจทก์ให้บุคคลอื่นประทับ บัตรบันทึกเวลาแทน เพื่อความสะดวกและมักง่ายของตน หาใช่โดยทุจริต เพื่อโกงค่าแรงงาน ของจำเลยไม่จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับ กรณีไม่ร้ายแรงเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ มาก่อน และจำเลยได้ไล่โจทก์ออก จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยได้ออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ความจริงจำเลยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายใด ๆจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 18,600 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 27 มิถุนายน 2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5เป็นข้อบังคับที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายตามข้อบังคับดังกล่าวหมวด 11 ส่วนที่ 2 ข้อ 9 (11) ระบุว่า การประทับบัตรบันทึกเวลาแทนผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นประทับบัตรบันทึกเวลาแทนถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงจะถูกลงโทษโดยการไล่ออก โจทก์กระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับนี้ จำเลยจึงมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)เห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5 เป็นระเบียบเกี่ยวกับการทำงานที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดขึ้นเพื่อใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการของจำเลย เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยได้กระทำขึ้นตามกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายซึ่งในหมวด 11 ส่วนที่ 2 ข้อ 9(11)ที่กำหนดว่าการประทับบัตรบันทึกเวลาแทนผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นประทับบัตรบันทึกเวลาแทนเป็นความผิดร้ายแรงจะถูกลงโทษโดยการไล่ออก ก็ย่อมมีผลใช้บังคับได้เช่นเดียวกัน แต่การจะจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างหรือไม่ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)กล่าวคือ การฝ่าฝืนจะต้องเป็นความผิดกรณีร้ายแรง จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงจะมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ถ้าเป็นการฝ่าฝืนที่ไม่เป็นความผิดกรณีร้ายแรง จำเลยจะต้องเคยตักเตือนเป็นหนังสือต่อลูกจ้างผู้ฝ่าฝืนมาก่อนและลูกจ้างได้กระทำความผิดซ้ำคำเตือนจำเลยจึงจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนการฝ่าฝืนจะเป็นความผิดกรณีร้ายแรงหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป จะถือเอาว่าถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อ 9(11)แล้วเป็นความผิดกรณีร้ายแรงทุกเรื่องไปหาได้ไม่ เช่น ลูกจ้างไม่ได้มาทำงานหรือทำงานไม่ครบหนึ่งวันแต่ให้ผู้อื่นประทับบัตรบันทึกเวลาแทนเพื่อแสดงเท็จต่อจำเลยว่าตนได้มาทำงานหรือมาทำงานเต็มวัน อันมีผลเป็นการฉ้อโกงค่าแรงของจำเลย ผู้กระทำความผิดเช่นนี้ย่อมมีความผิดกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า วันเกิดเหตุโจทก์ได้มาทำงานตามปกติและได้กลับออกจากที่ทำงานเมื่อเลิกงานแล้ว โจทก์ขอให้นายอนุชาประทับบัตรบันทึกเวลาแทนเพื่อความสะดวกของโจทก์อันเป็นการกระทำที่มักง่าย แต่โจทก์หาได้กระทำโดยทุจริตเพื่อโกงค่าแรงของจำเลยไม่ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีไม่ร้ายแรง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์….”
พิพากษายืน.

Share