แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ร. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2516 ในระหว่างสมรสผู้ร้องมาจดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2521 ผู้ร้องซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก จ. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523 ต่อมาวันที่ 10มีนาคม 2526 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าขาดกันกรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งแม้ผู้ร้องจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วอันจะทำให้การสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อในระหว่างที่ผู้ร้องจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมายังไม่มีผู้มีส่วนได้เสียคนใดร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1495(เดิม) ต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ยังมีผลสมบูรณ์อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาระหว่างสมรสกับ ร. และจำเลยที่ 1 จึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือออกเงินช่วยผู้ร้องชำระราคาที่ดินพิพาทหรือไม่แม้ภายหลังผู้ร้องกับจำเลยที่ 1จะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันก็ต้องจัดการแบ่งที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องตามสิทธิที่ผู้ร้องมีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และ 1533 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาดำเนินการตามที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8668 และ 8669 ตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชา (บางพระ)จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรสเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้ร้องกับนางรัตน์ธนา ภู่จีน ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ขอให้ถอนการยึด ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวจำเลยที่ 1มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย จึงมีคำสั่งไม่ให้ถอนการยึด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ขอให้เพิกถอนการยึด
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมีจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการยึด ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8668 และ 8669 ตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชา (บางพระ) จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับนางรัตน์ธนา ภู่จีน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2516 ในระหว่างสมรสผู้ร้องได้จดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2521 ผู้ร้องซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8668 และ 8669 ตำบลทุ่งศุขลาอำเภอศรีราชา (บางพระ) จังหวัดชลบุรี จากนางระจิตต์ สุวรรณโสภี เมื่อวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2523 ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2526 ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกับผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2521 และจดทะเบียนหย่าขาดจากกันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2526กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งแม้ผู้ร้องจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้และการสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อในระหว่างที่ผู้ร้องจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทยังไม่มีผู้มีส่วนได้เสียคนใดร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 1495 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นที่บัญญัติว่าคำพิพากษาศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสใดเป็นโมฆะแล้วจึงต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1ยังมีผลสมบูรณ์อยู่ ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาระหว่างสมรสกับนางรัตน์ธนาและจำเลยที่ 1 จึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือออกเงินช่วยผู้ร้องชำระราคาที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้ภายหลังผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายก็ต้องจัดการแบ่งที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องตามสิทธิที่ผู้ร้องมีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และ 1533 ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาดำเนินการได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นส่วนที่ผู้ร้องฎีกาสรุปความทำนองว่า ในการจดทะเบียนหย่าขาดจากกันกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาไว้โดยปริยายว่าขอสละสิทธิครอบครองหรือสิทธิเรียกร้องในที่ดินพิพาท เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิเรียกร้องในที่ดินพิพาทเอาจากผู้ร้องแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทต่อไปนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน