แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โดยหลักทั่วไปว่าด้วยความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอก เมื่อตัวแทนกระทำการแทนตัวการไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนแล้ว ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายที่ตัวแทนได้ทำไปดังกล่าวนั้น โดยตัวแทนไม่ต้องผูกพันหรือรับผิดต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 ก็ตาม แต่ในกรณีตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศนั้นเป็นกรณีที่มี มาตรา 824 บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้ตัวแทนเช่นนี้ต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง ซึ่งหมายความว่า ตัวแทนเช่นว่านี้ต้องมีความรับผิดด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศกับจำเลยที่ 2 ตัวแทนที่ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 1 รวมกันมา และศาลได้พิจารณาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกคนหนึ่งได้ตาม มาตรา 824
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/46)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายตามราคาค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้รับความเสียหายถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 863,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 807,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อระบุเงื่อนไขแบบ CIF ฮ่องกง ซึ่งกรรมสิทธิ์ในสินค้าและความเสี่ยงภัยในสินค้าโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่เมื่อสินค้าพ้นกราบเรือที่ท่าเรือปลายทางแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 605,625 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2541 (อันเป็นวันที่พบเห็นความเสียหาย) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่แพ้คดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีสำนักงานอยู่ที่เมืองไทเป ดินแดนไต้หวัน ประกอบธุรกิจรับขนส่งสินค้าทางทะเล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการติดต่อประกอบธุรกิจในประเทศไทย เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2541 บริษัทเคเอ ชิง ฮ่องกง เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งอยู่ที่เมืองฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สั่งซื้อสินค้าทุเรียนสดจากโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อยังเมืองฮ่องกง โดยบรรจุสินค้าในตู้สินค้าแบบมีเครื่องทำความเย็นจำนวน 2 ตู้ บรรทุกไปบนเรือเดินทะเลเอฟเวอร์ โกลเด้นท์ ของจำเลยที่ 1 เมื่อเรือเดินทางถึงเมืองฮ่องกง ผู้รับตราส่งรับตู้สินค้าไป และพบว่าสินค้าในตู้หนึ่งได้รับความเสียหาย…
มีปัญญาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยและพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเข้าทำสัญญารับขนของทางทะเลกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ชอบหรือไม่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้โดยหลักทั่วไปว่าด้วยความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอก เมื่อตัวแทนกระทำการแทนตัวการไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนแล้ว ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายที่ตัวแทนได้ทำไปดังกล่าวนั้น โดยตัวแทนไม่ต้องผูกพันหรือรับผิดต่อบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 ก็ตาม แต่ในกรณีตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศนั้นเป็นกรณีที่มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้ตัวแทนเช่นนี้ต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง ซึ่งหมายความว่าตัวแทนเช่นว่านี้ต้องมีความรับผิดด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศกับจำเลยที่ 2 ตัวแทนที่ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 1 รวมกันมาและศาลได้พิจารณาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกคนหนึ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าให้โจทก์โดยติดต่อกับจำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจองระวางเรือแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ลงลายมือชื่อออกใบตราส่งโดยระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ดังนี้กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนจึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์.