แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัทผู้เสียหายเก็บเงินจากลูกค้าแล้วยักยอกไปโดยจำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายใช้อาวุธปืนและมีดจี้บังคับปล้นเอาเงินจำนวน 74,320 บาท ซึ่งเป็นของผู้เสียหายและบางส่วนเป็นของจำเลยไป โดยไม่มีการปล้นทรัพย์เกิดขึ้น แต่จำเลยทำพยานหลักฐานเท็จด้วยการใช้ท่อนไม้ทุบรถจักรยานยนต์ของจำเลยและแจ้งข้อความเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการปล้นทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แจ้งความเท็จว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัทนิยมพานิช จำกัด ผู้เสียหายได้เบียดบังเอาเงินค่าเช่าซื้อที่เก็บจากลูกค้าของผู้เสียหายจำนวน 47 ราย จำนวนเงิน72,820 บาทเป็นของจำเลยโดยทุจริต และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 เวลากลางวันจำเลยรู้อยู่ว่ามิได้มีการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จโดยใช้ไม้ท่อน 1 ท่อน ทุบไฟหน้ารถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับจนแตกเสียหายแล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจโทนครศักดิ์ ชัยชนะวงศ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอป่าซางว่ามีชาย 3 คน ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะใช้อาวุธปืนและมีดปล้นทรัพย์เอาเงินสดจำนวน 75,320 บาท ซึ่งเป็นของบริษัทนิยมพานิช จำกัด ผู้เสียหายและบางส่วนเป็นเงินส่วนตัวของจำเลยไปแล้วใช้ไม้ตีโคมไฟหน้ารถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับแตกเสียหาย ความจริงแล้วมิได้มีเหตุการณ์ปล้นทรัพย์เกิดขึ้น การกระทำของจำเลยทำให้บริษัทนิยมพานิช จำกัด และร้อยตำรวจโทนครศักดิ์ ชัยชนะวงศ์ พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 137, 172, 173, 179, 91 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 72,820 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,172, 173, 179, 90, 91 ฐานยักยอก จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด กับความผิดฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเป็นกรรมเดียวกัน ลงโทษฐานแจ้งความเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 173 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี6 เดือน กับให้จำเลยคืนเงิน 72,820 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ภายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคดีอยู่ในระหว่างภายในกำหนดยื่นฎีกา บริษัทนิยมพานิช จำกัดผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานยักยอกจากสารบบความ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งฟังได้ยุติว่า จำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัทนิยมพานิช จำกัด ผู้เสียหายมีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าส่งให้แก่ผู้เสียหายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 เวลากลางวัน จำเลยได้แจ้งความต่อร้อยตำรวจโทนครศักดิ์ ชัยชนะวงศ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอป่าซางว่ามีคนร้าย 3 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นพาหนะร่วมกันใช้อาวุธปืนและมีดจี้บังคับปล้นเอาเงินจำนวน 74,320 บาท ซึ่งเป็นของผู้เสียหายและบางส่วนเป็นของจำเลยไปตามคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษเอกสารหมาย จ.10 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในชั้นนี้มีว่า การแจ้งความของจำเลยดังกล่าวเป็นความเท็จโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่จำเลยทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดฐานปล้นทรัพย์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ โจทก์มีนายวิรัตน์ ภู่สว่างนางลัดดา อะกะเรือน ร้อยตำรวจโทพนม สมชาติ ร้อยตำรวจโทนครศักดิ์ ชัยชนะวงศ์พันตำรวจโททรงศักดิ์ สว่างประเสริฐ และร้อยตำรวจเอกสกล สีบานชื่น เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า เมื่อร้อยตำรวจโทนครศักดิ์ได้รับแจ้งความจากจำเลยว่าถูกปล้นทรัพย์แล้วได้ส่งมอบคดีให้พันตำรวจโททรงศักดิ์ดำเนินการสอบสวนเนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ผลการสอบสวนปรากฏว่าจำเลยให้การพิรุธหลายประการ เช่น ไม่นำเงินค่าเช่าซื้อที่เก็บจากลูกค้าส่งให้ผู้เสียหายภายในกำหนดตามระเบียบที่กำหนดไว้จำเลย เก็บเงินจากลูกค้าหลายรายมาได้ถึง 72,820 บาท และขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 16 นาฬิกา ใกล้เวลาที่จะต้องนำเงินส่งให้ผู้เสียหายตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ แต่จำเลยไม่รีบนำไปส่งให้ผู้เสียหายกลับย้อนไปเก็บเงินจากลูกค้าซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระจึงถูกปล้นทรัพย์ ท่อนไม้ที่จำเลยอ้างว่าคนร้ายใช้ทุบรถของจำเลยเป็นท่อนไม้ที่เคยถูกเผาจนมีเถ้าถ่านติดอยู่และมีเถ้าถ่านที่มือจำเลย น่าเชื่อว่าจำเลยหยิบท่อนไม้นั้นมาตีรถเอง นางลัดดาซึ่งเป็นลูกค้ารายหนึ่งได้ชำระค่าเช่าซื้อสินค้าให้จำเลยเป็นเช็คตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537แต่ในวันดังกล่าวจำเลยกลับออกใบเสร็จรับเงินว่าเป็นการชำระด้วยเงินสด โดยลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่อ้างว่าถูกปล้นทรัพย์ให้นางลัดดาไปและจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 แต่ไม่นำส่งผู้เสียหายจึงไม่เชื่อว่ามีการปล้นทรัพย์จริง ต่อมาจำเลยยอมรับว่าสร้างเหตุการณ์ขึ้นมาเองร้อยตำรวจโทนครศักดิ์จึงดำเนินคดีแก่จำเลยฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตามคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษเอกสารหมาย จ.13 จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.14 เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า ได้ถูกคนร้าย 3 คน ปล้นทรัพย์ไปจริง เหตุที่จำเลยให้การรับสารภาพตามที่โจทก์นำสืบเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญว่าถ้าไม่ให้การรับสารภาพจะมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตนั้นเป็นการนำสืบกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ จำเลยและนายพิเชษฐ์ กันทะใจ พยานจำเลยยังเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าตามระเบียบบริษัทของผู้เสียหายกำหนดไว้ว่าในกรณีที่ลูกค้าชำระค่าเช่าซื้อเป็นเช็คพนักงานเก็บเงินจะออกใบรับเช็คให้ก่อนจะออกใบเสร็จรับเงินให้ไม่ได้จนกว่าเช็คเรียกเก็บเงินได้และกรณีที่เก็บเงินได้แล้วต้องส่งเงินทั้งหมดให้ผู้เสียหายในวันเดียวกันจะเก็บไว้กับตัวเองไม่ได้หากกลับมาไม่ทันเวลางานของฝ่ายบัญชีก็จะต้องนำเงินบรรจุซองบันทึกจำนวนเงินไว้หน้าซอง พร้อมชื่อ แผนก และวันเดือนปี แล้วนำซองไปใส่ในตู้เซฟซึ่งผู้เสียหายจัดไว้ แล้วลงบันทึกในสมุดบัญชี แต่จำเลยกลับไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวโดยออกใบเสร็จรับเงินให้นางลัดดาทันทีในขณะที่รับเช็คและลงวันที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งเมื่อจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันนั้นได้แล้วก็เก็บเงินไว้กับตัวเองไม่นำส่งให้แก่ผู้เสียหายอันเป็นการส่อพิรุธว่าจำเลยตระเตรียมการที่จะยักยอกเงินดังกล่าวและสร้างเหตุการณ์ปล้นทรัพย์ขึ้น ส่วนข้ออ้างที่ว่ายังไม่นำเงินดังกล่าวส่งให้แก่บริษัทผู้เสียหายเนื่องจากวันรุ่งขึ้นจำเลยต้องไปจังหวัดเชียงใหม่ วันถัดมาจำเลยต้องทำรายงานสถิติการเก็บเงินจากลูกค้า วันเกิดเหตุจำเลยไปเบิกใบเสร็จรับเงินแล้วเดินทางไปเก็บเงินจากลูกค้าที่อำเภอป่าซางจนถูกปล้นทรัพย์นั้นก็ไม่ใช่เหตุเร่งด่วนถึงกับจะนำเงินไปส่งให้แก่ผู้เสียหายไม่ได้ จึงไม่มีน้ำหนักให้พอรับฟัง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกับข้อพิรุธต่าง ๆ ตามคำเบิกความของพยานโจทก์และคำให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.12 และบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.14 เชื่อว่าไม่มีการการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์เกิดขึ้น แต่จำเลยทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จและแจ้งข้อความเป็น อันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาและรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแต่แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดและฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงประกอบการกระทำผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ประกอบมาตรา 179 ไม่ได้นำสืบยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 173 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามมาตรา 173 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดโดยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นพิจารณาของศาล จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ด้วยและนำสืบพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เมื่อศาลฟังข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 173 ก็ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวที่อ้างในคำฟ้องได้หาเป็นการไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดีความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2และคดีอยู่ในระหว่างภายในกำหนดเวลาที่ยื่นฎีกาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์โดยจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายครบถ้วนแล้ว ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงเป็นอันระงับไปแล้ว นับว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดฐานยักยอกอันเป็นมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 173 คดีมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2