คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5448/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญารับประกันภัยกับ ท.โดยระบุให้ธนาคาร ก.จำกัดเป็นผู้รับประโยชน์ และตามกรมธรรม์ระบุว่า “ความเห็นแตกต่างกันที่เกิดขึ้นจากกรมธรรม์ดังกล่าวให้เสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด”การทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในการใช้สิทธิฟ้องร้องตามสัญญาประกันภัย เมื่อธนาคาร ก.จำกัดผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยดังกล่าวโอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและเงื่อนไขในการใช้สิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมีความเห็นต่างกันในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ต้องเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดเสียก่อน โจทก์จะนำคดีมาฟ้องโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนไม่ได้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องการรับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยซึ่งมีจำเลยเป็นผู้รับประกันภัย ต่อมาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยสูญหายทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 593,466.77 บาทโจทก์ติดต่อให้จำเลยชำระ แต่จำเลยไม่ยอมชำระ จึงขอคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นดอกเบี้ย 57,121.16 บาท ขอให้จำเลยชำระรวมเป็นเงิน 650,587.93 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง และตามกรมธรรม์ข้อ 6 ระบุให้คู่สัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดในข้อขัดแย้งก่อนจึงจะฟ้องคดีต่อศาลได้ เมื่อยังไม่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้อง มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อตกลงให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการใช้เฉพาะคู่สัญญา โจทก์เป็นเพียงผู้รับโอนไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการก่อนฟ้องคดี นั้น ตามกรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้องหมายเลข 4 ข้อ 2 ระบุว่าความเห็นแตกต่างกันที่เกิดขึ้นจากกรมธรรม์ดังกล่าว ให้เสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด และการทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในการใช้สิทธิฟ้องร้องผู้รับประกันภัย ดังนั้นแม้ธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด เป็นคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการกับจำเลย แต่เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ดังกล่าวจากธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและเงื่อนไขในการใช้สิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว และย่อมต้องถูกผูกพันตามสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวแล้ว ทั้งตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย เลขที่ จี.731/85 ข้อ 6 ก็กำหนดว่า”ความเห็นแตกต่างกันที่เกิดขึ้นจากกรมธรรม์นี้ให้เสนอให้อนุญาโตตุลาการคนหนึ่งชี้ขาด… การทำคำชี้ขาดจะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในการใช้สิทธิฟ้องร้องผู้รับประกันภัย” เมื่อโจทก์และจำเลยมีความเห็นต่างกันในเรื่องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมถือได้ว่าเป็นความเห็นแตกต่างกันที่เกิดขึ้นจากกรมธรรม์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งต้องมีการเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดก่อน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.

Share