คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2353/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายกับพวกจะเข้าไปจับกุมจำเลยในข้อหาทำร้ายร่างกายแต่การกระทำของจำเลยมิใช่ความผิดซึ่งหน้า ผู้ตายกับพวกเป็นเพียงราษฎรย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมจำเลยได้โดยลำพังตามป.วิ.อ. มาตรา 79 จำเลยจึงมีสิทธิป้องกันเพื่อให้พ้นที่จะต้องถูกจับได้ แต่การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์ แทงผู้ตายถูกที่หน้าอกซ้ายส่วนล่างใต้ นมเหนือชายโครงถึงแก่ความตายในคืนเกิดเหตุนั้นเองแสดงว่าจำเลยแทงโดยแรงและเลือกแทงถูกที่อวัยวะสำคัญ โดยไม่ปรากฎว่าผู้ตายกับพวกมีอาวุธหรือแสดงอาการในลักษณะที่จะทำร้ายจำเลยนอกเหนือจากการกระทำเพื่อจับกุมเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 371 ลงโทษจำคุกในความผิดกระทงแรก 18 ปี กระทงหลังปรับ 80 บาท ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69 จำคุก 10 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวพิศมัยผู้ตายถูกคนร้ายแทงที่หน้าอกใต้ราวนมซ้ายถึงแก่ความตายในวันเกิดเหตุที่เกิดเหตุจริง ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน ขอให้ลงโทษเต็มตามฟ้องนั้น คดีได้ความจากนายชาติอัศวโกวิทไวยโรจน์ พยานโจทก์ พันตำรวจโทมณเฑียร ประทีปปะวนิชพนักงานสอบสวน และคำให้การชั้นสอบสวนของนายโฮม ทองมวล ตามเอกสารหมาย จ.11 ว่า ในวันเดียวกับวันเกิดเหตุ แต่เป็นเวลาก่อนเกิดเหตุจำเลยได้ใช้ท่อนเหล็กตีศีรษะของนายโฮมแตกโลหิตไหล และได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้แล้ว ต่อมานายชาติและผู้ตายซึ่งแต่งกายเป็นชายเห็นจำเลยเดินผ่านมาก็จะเข้าจับกุมจำเลย จำเลยชักเหล็กขูดชาฟท์ออกมาจากเอวแทงนายชาติ แต่นายชาติหลบเสียทันผู้ตายได้ผ่านหลังนายชาติเพื่อจะเข้าไปล็อกคอจำเลย จึงถูกจำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงที่ราวนมด้านซ้าย 1 ที ส่วนจำเลยนำสืบพัวพันเข้ามาว่า จำเลยได้ใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงพวกที่กลุ้มรุมชกต่อยจำเลยจริงไม่ได้มองว่าถูกใคร เพื่อป้องกันตัว และก่อนหน้าที่จะใช้เหล็กขูดชาฟท์แทง ก็ได้ใช้ท่อนเหล็กตีพวกที่กลุ้มรุมชกต่อยจำเลยจริง แต่จะถูกหรือไม่ ไม่ทราบ นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานการตรวจศพของแพทย์และเจ้าพนักงานท้ายฟ้องได้ความว่า ผู้ตายถูกของแข็งมีคมรูปสามแฉกแผลมีสภาพฉีกขาดเป็นรูปสามแฉกดังนี้ เมื่อคำนึดถึงสภาพบาดแผลของผู้ตายรวมกับข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานโจทก์จำเลยดังกล่าวทำให้เชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นคนใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตาย และก่อนหน้าที่จำเลยจะแทงผู้ตาย จำเลยยังได้ใช้ท่อนเหล็กตีทำร้ายนายโฮมด้วย ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้นายชาติและผู้ตายมีเจตนาเพียงจะเข้าไปจับกุมจำเลยในกรณีที่จำเลยได้ใช้ท่อนเหล็กตีทำร้ายนายโฮมพวกของนายชาติเท่านั้น แต่การกระทำของจำเลยในกรณีทำร้ายนายโฮมนั้นมิใช่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า นายชาติและผู้ตายเป็นเพียงราษฎรย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมจำเลยได้โดยลำพัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 79 เมื่อนายชาติและผู้ตายจะเข้าจับกุมจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันเพื่อให้พ้นที่จะต้องถูกจับได้ แต่การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายถูกที่หน้าอกซ้ายส่วนล่างใต้นมเหนือชายโครงถึงแก่ความตายในคืนเกิดเหตุนั้นเอง แสดงว่าจำเลยแทงโดยแรงและตำแหน่งบาดแผลคือที่หน้าอกใกล้ราวนม ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเลือกแทงถูกที่อวัยวะสำคัญ โดยไม่ปรากฏว่านายชาติและผู้ตายมีอาวุธหรือแสดงอาการในลักษณะที่จะทำร้ายจำเลยนอกเหนือจากการกระทำเพื่อจับกุมจำเลยนั้น การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุด้วยเหตุผลตามที่ได้วินิจฉัยมาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share