แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขายทอดตลาดทรัพย์มีความมุ่งหมายที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในขณะเดียวกันเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องให้ความคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้เกิดความเสียหายด้วยโดยต้องไม่ขายทรัพย์สินเกินความจำเป็นและเมื่อได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้วก็ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินอื่นที่ยึดหรืออายัดไว้ออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นอีกถ้าเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดในการขายทอดตลาดนั้นยังไม่เพียงพอเช่นราคาต่ำไปเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้หากฝ่าฝืนก็อาจถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้นอาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการถึงไร่ละ40,000บาทที่ดินทั้งสองแปลงมีเนื้อที่รวม104ไร่จึงได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมินถึง4,160,000บาทอีกทั้งโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็รู้ดีว่าหากโจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่1ในวันขายทอดตลาดครั้งที่6จำนวน40,000บาทแล้วจำเลยที่1ก็จะเป็นหนี้โจทก์เพียงประมาณ40,000บาทเท่านั้นการขายทอดตลาดที่ดินแปลงหลังเพียงแปลงเดียวก็น่าจะเพียงพอแก่การชำระหนี้โจทก์ได้อยู่แล้วแม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้กระทำการโดยสุจริตแต่ไม่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกหนี้เท่าที่ควรจึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดอันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา513ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา308เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน401,232 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามกำหนด โจทก์จึงขอหมายตั้งเจ้าหน้าที่บังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1499 และ 1589 ของจำเลยที่ 1 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ปรากฎว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 2 ต่อธนาคารศรีนคร จำกัดซึ่งธนาคารศรีนคร จำกัดได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเป็นเงิน4,245,198.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในเงินต้น 3,780,406.11บาท นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2536 ให้ธนาคารศรีนคร จำกัด ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม2537เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1499และ1589 ของจำเลยที่ 1 ปรากฎว่า นายสมบูรณ์ ทรัพย์ถวิลหานายยงยุทธ ถิระวารินทร์ยุทธ นายวิรัช รักพงษ์ไทยนายวิชิตวงศ์มณีประทีป นายวิฑูร หงส์เลิศนภากุล และนายบุญชัย โชติศิริคุณวัฒน์ เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา4,400,000 บาท และ2,000,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน6,400,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ในการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งสองแปลงตลอดมานั้น โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดี และบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ซื้อทราบดีว่า จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตลอดมาจนเหลือหนี้ประมาณ 80,000 บาท ซึ่งทุกครั้งที่มีการชำระหนี้ โจทก์ขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ โดยจำเลยที่ 1พยายามรวบรวมเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์และยังเหลือหนี้เพียงเล็กน้อยแต่โจทก์กลับเร่งให้มีการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1 จึงมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าโจทก์จะสมรู้กับบุคคลภายนอก เพื่อทำให้ผู้ซื้อได้ประโยชน์จากการซื้อที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1และกำหนดให้มีการขายทอดตลาดใหม่
นายสมบูรณ์ ทรัพย์ถวิลหา นายยงยุทธ ถิระวารินทร์ยุทธนายวิรัช รักพงษ์ไทย นายวิชิต วงศ์มณีประทีปนายวิฑูร หงส์เลิศนภากุล และนายบุญชัย โชติศิริคุณวัฒน์ ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกยื่นคำร้องคัดค้านทำนองเดียวกัน คำร้องของจำเลยที่ 1คงอ้างแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินทั้งสองแปลงราคาต่ำไปเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่สามารถยืนยันว่าจะขายทอดตลาดได้ในราคาเท่าใด และสามารถหากผู้มาประมูลราคาได้สูงกว่าหรือไม่ทั้งมิได้กล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตหรือกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่จะให้ยกเลิกการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
โจทก์ ไม่ยื่น คำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีใหม่เพียงเท่าที่จำชำระหนี้ที่เหลือให้แก่โจทก์รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี
ผู้ซื้อทรัพย์ ทั้ง หก ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขายทอดตลาดทรัพย์มีความมุ่งหมายที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีและในขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องให้ความคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้เกิดความเสียหายด้วย โดยต้องไม่ขายทรัพย์สินเกินความจำเป็นและเมื่อได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ก็ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นอีก ถ้าเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดในการขายทอดตลาดนั้นยังไม่เพียงพอเช่นราคาต่ำไป เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้ หากฝ่าฝืนก็อาจถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้นอาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
สำหรับกรณีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาจำนวน 401,232 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 400,000 บาท โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำเลยที่ 1 จำนวน 2 แปลง ออกขายทอดตลาด การขายทอดตลาดครั้งที่ 1 และที่ 2 ได้ราคาต่ำเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดขาย การขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 โจทก์ขอให้งดการขายโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ให้บ้างแล้ว คงค้างชำระประมาณ80,000 บาท และในวันขายทอดตลาดครั้งที่ 6 จำเลยที่ 1 เตรียมเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 40,000 บาท แก่โจทก์ไม่รับและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกในราคาไร่ละ60,000 บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริง เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการถึงไร่ละ40,000 บาท ที่ดินที่ขายทอดตลาดทั้งสองแปลงนี้เนื้อที่รวม 104 ไร่จึงได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการถึง 4,160,000 บาทและการขายแต่ละครั้งจำเลยที่ 1 ก็คัดค้านทุกครั้ง อีกทั้งโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็รู้ดีว่าหากโจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ในวันขายทอดตลาดครั้งที่ 6 จำนวน 40,000 บาทแล้วจำเลยที่ 1 ก็จะเป็นหนี้โจทก์เพียงประมาณ 40,000 บาท เท่านั้นการขายทอดตลาดที่ดินแปลงหลังเพียงแปลงเดียวก็น่าจะเพียงพอแก่การชำระหนี้โจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขายทั้งสองแปลงเมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเป็นดังนี้ แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้กระทำการโดยสุจริต แต่ก็ถือได้ว่าไม่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกหนี้เท่าที่ควรเพราะขายทอดตลาดไปในราคาต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการถึง 4,160,000 บาท ซึ่งในกรณีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีน่าจะใช้ดุลพินิจถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 แล้วประกาศขายทอดตลาดใหม่ให้บุคคลอื่นนอกจากกลุ่มผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกได้มีโอกาสเข้ามาสู้ราคาซึ่งน่าจะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้ การอนุญาตให้ขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้ทั้งที่ทราบดีว่าถ้าโจทก์รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จำนวน 40,000 บาท ในวันขายทอดตลาดแล้วจำเลยที่ 1 ก็คงเป็นหนี้โจทก์เพียงประมาณ 40,000 บาท เช่นกันจึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมย์ของการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน