คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขายทอดตลาดทรัพย์มีความมุ่งหมายที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีและในขณะเดียวกันเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องให้ความคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้เกิดความเสียหายด้วยโดยต้องไม่ขายทรัพย์สินเกินความจำเป็นและเมื่อได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้วก็ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินอื่นที่ยึดหรืออายัดไว้ออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นอีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 401,232 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามกำหนด โจทก์จึงขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1499 และ 1589 ตำบลดอนข่อย อำเภอดำเนินสะดวกจังหวัดราชบุรี ของจำเลยที่ 1 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจำเลยที่ 1นำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 2 ต่อธนาคารศรีนครจำกัด ซึ่งธนาคารศรีนคร จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเป็นเงิน 4,245,198.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในเงินต้น 3,780,406.11 บาท นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2536ให้ธนาคารศรีนคร จำกัด ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ต่อมาเมื่อวันที่9 มีนาคม 2537 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1499 และ 1589 ของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่า นายสมบูรณ์ทรัพย์ถวิลหา นายยงยุทธ ถิระวารินทร์ยุทธ นายวิรัช รักพงษ์ไทยนายวิชิต วงศ์มณีประทีป นายวิฑูร หงส์เลิศนภากุล และนายบุญชัย โชติศิริคุณวัฒน์ เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 4,400,000บาท และ 2,000,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 6,400,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1499 และ 1589ของจำเลยที่ 1 ทั้งสองแปลงมีถนนและคลองสาธารณะผ่าน โจทก์ประเมินราคาไว้เพียงไร่ละ 60,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการมาก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2534 บริเวณที่ดินของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาไว้ไร่ละ 100,000 บาทแม้กระทั่งวันที่ 10 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีประเมินราคาที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1ซึ่งก็ได้ประเมินราคาไร่ละ 100,000 บาท เช่นกัน ที่ดินทั้งสองแปลงจึงมีราคาประเมิน 10,000,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับหนี้ตามคำพิพากษาแล้วเห็นได้ว่า โจทก์นำยึดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1เกินความจำเป็นที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 นอกจากนี้ เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1589 นั้น จำเลยที่ 1 ได้ปลูกต้นมะม่วงมาแต่เดิม แต่เมื่อโจทก์นำยึดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 โจทก์ระบุว่า เป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ปลูกต้นสนไว้ ซึ่งเป็นการปกปิดความจริง เพื่อทำให้สภาพที่ดินไม่น่าที่จะจูงใจให้บุคคลภายนอกเข้าสู้ราคา เว้นแต่พวกของตนในอันที่จะสมยอมกัน ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะมิได้สอบถามราคาประเมินจากสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีเพื่อนำมาประกอบการประเมิน หากได้สอบถามก่อนแล้วราคาที่ประเมินในการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ต้องสูงกว่านี้แน่นอน จำเลยที่ 1 จึงต้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ทุกครั้ง รวมทั้งครั้งสุดท้ายด้วย ในการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งสองแปลงตลอดมานั้น โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีและบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ซื้อทราบดีว่า จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตลอดมาจนเหลือหนี้ประมาณ 80,000 บาท ซึ่งทุกครั้งที่มีการชำระหนี้โจทก์ขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ โดยจำเลยที่ 1 พยายามรวบรวมเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์และยังเหลือหนี้เพียงเล็กน้อย แต่โจทก์กลับเร่งให้มีการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1จึงมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าโจทก์จะสมรู้กับบุคคลภายนอกเพื่อทำให้ผู้ซื้อได้ประโยชน์จากการซื้อที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1ด้วยเหตุดังกล่าว เห็นได้ว่า การนำยึดก็ดี การประเมินราคาก็ดีและการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1 ก็ดี ล้วนเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1 และกำหนดให้มีการขายทอดตลาดใหม่
นายสมบูรณ์ ทรัพย์ถวิลหา นายยงยุทธ ถิระวารินทร์ยุทธนายวิรัช รักพงษ์ไทย นายวิชิต วงศ์มณีประทีปนายวิฑูร หงส์เลิศนภากุล และนายบุญชัย โชติศิริคุณวัฒน์ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกยื่นคำร้องคัดค้านทำนองเดียวกันว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1499 และ 1589ของจำเลยที่ 1 นั้น ได้ประเมินราคาขณะยึดเป็นเงิน 4,335,600 บาทและ 1,968,600 บาท ตามลำดับ หลังจากทำการยึดเมื่อวันที่17 พฤศจิกายน 2535 แล้วได้มีการขายทอดตลาดหลายครั้งโดยการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 และธนาคารศรีนคร จำกัดผู้รับจำนองคัดค้านว่า ราคาประมูลซื้อที่ดินทั้งสองแปลงต่ำไปเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดการขายทอดตลาดแล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1และธนาคารศรีนคร จำกัด หาผู้มาประมูลสู้ราคาในการขายทอดตลาดครั้งต่อไป มิฉะนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจะพิจารณาขายในราคาที่เห็นสมควรซึ่งจำเลยที่ 1 รับทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งขายที่ดินทั้งสองแปลงในการขายทอดตลาดครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2537 ด้วยราคา4,400,000 บาท และ 2,000,000 บาท เป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินมากแล้ว นอกจากนี้เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประเมินราคาที่ดินทั้งสองแปลงแล้วได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งตั้งแต่วันที่26 พฤศจิกายน 2535 ก็มิได้โต้แย้งว่าการยึดและประเมินราคาที่ดินทั้งสองแปลงไม่ถูกต้องอย่างไร ในการขายทอดตลาดครั้งนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีก็เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าสู้ราคากันอย่างเต็มที่ธนาคารศรีนคร จำกัด ก็ไม่คัดค้านราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตกลงขาย สภาพที่ดินทั้งสองแปลงมิได้มีถนนผ่าน คงมีลำรางสาธารณะอยู่ติดกับที่ดินทั้งสองแปลงเท่านั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินทั้งสองแปลงเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงแล้ว และที่ดินทั้งสองแปลงติดจำนองธนาคารศรีนคร จำกัด เป็นเงินประมาณ 4,000,000 บาทเมื่อขายทอดตลาดได้แล้วจะต้องชำระหนี้ให้ธนาคารศรีนคร จำกัดก่อน การที่โจทก์นำยึดที่ดินทั้งสองแปลงจึงไม่เกินกว่าความเป็นจริงถึงกระนั้นก็ตามหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ควรยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 8 วัน นับแต่วันที่ทราบวันยึดทรัพย์ แต่จำเลยที่ 1ก็หาได้ยื่นคำร้องต่อศาลไม่ จึงถือว่าไม่ติดใจคัดค้านการยึดแล้วจำเลยที่ 1 จะมาคัดค้านว่าการยึดที่ดินทั้งสองแปลงไม่ชอบในตอนนี้ไม่ได้สำหรับคำร้องของจำเลยที่ 1 คงอ้างแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินทั้งสองแปลงราคาต่ำไปเท่านั้น จำเลยที่ 1ไม่สามารถยืนยันว่าจะขายทอดตลาดได้ในราคาเท่าใด และสามารถหาผู้มาประมูลราคาได้สูงกว่าหรือไม่ ทั้งมิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตหรือกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่จะให้ยกเลิกการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
โจทก์ ไม่ยื่น คำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีใหม่เพียงเท่าที่จะชำระหนี้ที่เหลือให้แก่โจทก์
ผู้ซื้อทรัพย์ ทั้ง หก ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 401,232 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 400,000 บาท เมื่อวันที่17 พฤศจิกายน 2535 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 1499 และ 1589 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้แปลงแรก 4,335,600 บาท และแปลงหลังเป็นเงิน1,968,600 บาท ต่อมาธนาคารศรีนคร จำกัด ผู้รับจำนองที่ดินจำเลยที่ 1 ทั้งสองแปลงดังกล่าวขอรับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองเป็นเงิน 4,245,198.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากต้นเงิน 3,780,406.11 บาท ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ธนาคารศรีนครจำกัด เข้ารับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่น หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม 6 ครั้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าได้ราคาต่ำจึงให้งดขาย 2 ครั้ง ส่วนอีก 3 ครั้ง โจทก์ขอให้งดการขายโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้บ้างแล้วคงค้างประมาณ 80,000 บาทและในการประกาศขายทอดตลาดครั้งที่ 6 จำเลยที่ 1 เตรียมเงินมาชำระให้แก่โจทก์ 40,000 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมรับและยืนยันให้ขายทอดตลาดไปซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคา4,400,000 บาท สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1499 และราคา 2,000,000 บาทสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1589 จำเลยที่ 1 คัดค้านว่าราคาต่ำไปมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายสมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การขายทอดตลาดทรัพย์มีความมุ่งหมายที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีและในขณะเดียวกันเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องให้ความคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้เกิดความเสียหายด้วย โดยต้องไม่ขายทรัพย์สินเกินความจำเป็นและเมื่อได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ก็ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินอื่นที่ยึดหรืออายัดไว้ออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นอีก ถ้าเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดในการขายทอดตลาดนั้นยังไม่เพียงพอเช่นราคาต่ำไป เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้ หากฝ่าฝืนก็อาจถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้นอาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้สำหรับกรณีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาจำนวน 401,232 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 400,000 บาท โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำเลยที่ 1 จำนวน 2 แปลง ออกขายทอดตลาดการขายทอดตลาดครั้งที่ 1และที่ 2 ได้ราคาต่ำเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดขาย การขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 โจทก์ขอให้งดการขายโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ให้บ้างแล้ว คงค้างชำระประมาณ 80,000 บาทและในวันขายทอดตลาดครั้งที่ 6 จำเลยที่ 1 เตรียมเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 40,000 บาท แต่โจทก์ไม่รับและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกในราคาไร่ละ 60,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 นำสืบโดยนายสมชาย บุญผดุง นักวิชาการที่ดิน 6สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีเบิกความยืนยันว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 1 ถ้าติดทางสาธารณะหรือคลองสาธารณะลึกเข้าไป 80 เมตรราคาประเมินของทางราชการไร่ละ 100,000 บาท จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการถึงไร่ละ 40,000 บาท ที่ดินที่ขายทอดตลาดทั้งสองแปลงมีเนื้อที่รวม 104 ไร่ จึงได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการถึง4,160,000 บาท และการขายแต่ละครั้งจำเลยที่ 1 ก็คัดค้านทุกครั้งอีกทั้งโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็รู้ดีว่าหากโจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ในวันขายทอดตลาดครั้งที่ 6 จำนวน 40,000 บาทแล้วจำเลยที่ 1 ก็จะเป็นหนี้โจทก์เพียงประมาณ 40,000 บาท เท่านั้นการขายทอดตลาดที่ดินแปลงหลังเพียงแปลงเดียวก็น่าจะเพียงพอแก่การชำระหนี้โจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขายทั้งสองแปลงเมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเป็นดังนี้ แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้กระทำการโดยสุจริต แต่ก็ถือได้ว่าไม่รักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกหนี้เท่าที่ควรเพราะขายทอดตลาดไปในราคาต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการถึง 4,160,000 บาท ซึ่งในกรณีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีน่าจะใช้ดุลพินิจถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 แล้วประกาศขายทอดตลาดใหม่ให้บุคคลอื่นนอกจากกลุ่มผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกได้มีโอกาสเข้ามาสู้ราคาซึ่งน่าจะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้การอนุญาตให้ขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้ทั้งที่ทราบดีว่าถ้าโจทก์รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จำนวน 40,000 บาทในวันขายทอดตลาดแล้วจำเลยที่ 1 ก็คงเป็นหนี้โจทก์เพียงประมาณ40,000 บาท เช่นนี้จึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดอันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาผู้ซื้อทรัพย์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share