คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ผิดสัญญาซื้อขายที่ดินขอให้โจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อให้แก่จำเลย โจทก์ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยยังค้างชำระราคาที่ดินโจทก์ การที่โจทก์ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อเกิดจากการฉ้อฉลและสำคัญผิดเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนจำเลยจากผู้ถือกรรมสิทธิ์และริบเงินมัดจำ คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่า จำเลยตกลงซื้อที่ดินโจทก์ชำระเงินวันทำสัญญาบางส่วน โจทก์ใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อแล้ว จะชำระราคาส่วนที่เหลือให้ โดยระบุราคาซื้อขายที่ดินในสัญญา จำเลยไม่ชำระราคาที่ดินที่ค้างให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ ดังนี้ฟ้องแย้งของโจทก์ในคดีเดิมจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ และโจทก์ในคดี นี้ซึ่งเป็นจำเลยผู้ฟ้องแย้งในคดีเดิมมีฐานะเป็นโจทก์ฟ้องแย้ง ในคดีเดิมด้วย เมื่อคดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีเดิม ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2520จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากโจทก์เนื้อที่ 72 ตารางวาตารางวาละ 11,000 บาท รวมเป็นเงิน 792,000 บาท จำเลยชำระเงินในวันทำสัญญา 145,000 บาท คงค้าง 640,000 บาท จำเลยขอให้โจทก์ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินไว้ก่อน จำเลยจะชำระเงินส่วนที่เหลือให้โจทก์ หลังจากโจทก์ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแล้ว จำเลยให้โจทก์ทำสัญญาต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินว่า จำเลยให้ค่าตอบแทนหรือค่าซื้อขายที่ดินโจทก์ 72 ส่วนใน 2,552 ส่วน เป็นเงิน 145,000 บาท โดยเจตนาอำพรางราคาที่แท้จริงตามสัญญาซื้อขาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประเมินภาษีในการซื้อขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่โจทก์จำเลยตกลงกันโจทก์จึงใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและทำบันทึกว่าจำเลยได้ชำระค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นเงิน 145,000 บาท ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ จำเลยเพิกเฉยขอให้จำเลยชำระเงิน 640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลย ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วว่าสัญญาจะซื้อขายทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ต้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่พิพาทในราคา 145,000 บาท และโจทก์ชำระราคาให้จำเลยครบถ้วนแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528 ของศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528ของศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยอ้างว่า โจทก์ขายที่ดินบางส่วนให้จำเลย จำเลยชำระเงิน 145,000 บาท ให้โจทก์แล้วโจทก์ยอมให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อ ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาจึงขอให้บังคับโจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อให้จำเลย โจทก์ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยยังค้างชำระราคาที่ดินโจทก์เป็นเงิน615,000 บาท การที่โจทก์ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อเกิดจากการฉ้อฉลและสำคัญผิดจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้องและขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยออกจากผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อกับริบเงินมัดจำ 145,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินที่ซื้อให้จำเลยตามฟ้อง กับยกฟ้องแย้งโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528 ของศาลชั้นต้น โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาต่อมา คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ฯลฯ”ปรากฏว่า โจทก์ฟ้องแย้งในคดีก่อนว่า จำเลยตกลงซื้อที่ดินโจทก์72 ตารางวา ตารางวาละ 11,000 บาทเป็นเงิน 792,000 บาทจำเลยชำระเงิน 145,000 บาท คงค้าง 615,000 บาทต่อมาในวันทำสัญญาจำเลยใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนด โจทก์ขอบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนนิติกรรมกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 9953 ดังนั้น ฟ้องแย้งของโจทก์ในคดีก่อนจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ เมื่อในคดีเดิมจำเลยในคดีนั้นฟ้องแย้งด้วย จำเลยในคดีนั้นย่อมกลับเป็นโจทก์อีกฐานะหนึ่ง โดยเป็นโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดิมจึงเป็นโจทก์ฟ้องแย้งในคดีเดิมด้วยเช่นกัน ทั้งคดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฟ้องโจทก์คดีนี้จึงซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 194/2528ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1)
พิพากษายืน

Share