คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3028/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นทายาทของ ป. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งยึดถือโฉนดและครอบครองที่ดินพิพาทแบ่งที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกแก่จำเลยทั้งสี่และ ป. โดย ป.มีส่วนได้รับไม่ถึงตามฟ้อง ถือว่าโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของร่วมกัน ประเด็นพิพาทมีเพียงว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิในที่ดินพิพาทมากน้อยเพียงใด การที่จำเลยที่ 4 ต่อสู้ว่าฟ้องขาดอายุความมรดกเท่ากับต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเลยและฟ้องแย้งว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่ตนครอบครองโดยการครอบครองปรปักษ์ นอกจากโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่แล้วยังโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 จึงไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยา และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประดิษฐ์ ศาลากิจ นายประดิษฐ์เป็นบุตรของนายชุน ศาลากิจ นายชุนมีบุตร 5 คน คือจำเลยที่ 1 นายประดิษฐ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นายชุนได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3259 ตำบลแคราย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 96 ตารางวา ให้แก่นายประดิษฐ์ ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้ฟ้องนายประดิษฐ์ต่อศาลชั้นต้นว่าพินัยกรรมปลอม คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พินัยกรรมสมบูรณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2531 หลังจากนั้นนายประดิษฐ์ได้ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกจากที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนางอู๊ด ศาลากิจ ตกได้แก่ทายาทคือนายชุน นายประดิษฐ์ และจำเลยทั้งสี่ การที่นายชุนจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวนั้นเป็นการรับโอนกรรมสิทธิ์แทนทายาทอื่นด้วย นายชุนไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้แก่นายประดิษฐ์ พิพากษาให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5642/2538 ดังนั้น นายประดิษฐ์จะได้รับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมนางอู๊ด และในฐานะผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจากนายชุนเพียงเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา ส่วนที่เหลืออีก 2 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา จำเลยทั้งสี่จะได้รับในส่วนมรดกของนางอู๊ดภริยาของนายชุนเมื่อนายประดิษฐ์ถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของนายประดิษฐ์ตามจำนวนเนื้อที่ดิน 5 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา โจทก์ทั้งสี่เคยขอให้จำเลยทั้งสี่ไปดำเนินการแบ่งที่ดินทางทิศตะวันตกให้โจทก์ทั้งสี่ แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย โดยจำเลยที่ 4เป็นผู้ถือโฉนดที่ดินไว้ ขอให้พิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3259 ตำบลแครายอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นของโจทก์ทั้งสี่เป็นจำนวนเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา และให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้โจทก์ทั้งสี่ตามแผนที่เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 9 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ หากไม่สามารถประมูลได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3259 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1149 เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ซึ่งเป็นของนายหม้อ ต่อมานายหม้อได้ยกที่ดินให้แก่นางอู๊ด ศาลากิจ และนางมาก เกิดกรุง เมื่อนางอู๊ดถึงแก่ความตาย นายชุน ศาลากิจ ซึ่งเป็นสามีนางอู๊ดได้ไปขอรับมรดกในส่วนของนางอู๊ดและต่อมานายชุนได้ขอแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลงคือที่ดินพิพาทคดีนี้เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 96 ตารางวา และอีกแปลงหนึ่งเนื้อที่ 6 ไร่เศษ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของนางอู๊ด เมื่อนางอู๊ดถึงแก่ความตายจึงตกแก่ทายาทได้แก่ นายชุนนายประดิษฐ์และจำเลยทั้งสี่โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ทายาททุกคนได้คนละ 1 ส่วนจำนวนเนื้อที่คนละ1 ไร่ 1 งาน 32 6/10 ตารางวา นายชุนก็มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินแปลงพิพาทเพียง 1 ไร่ 1 งาน 32 6/10 ตารางวา ฉะนั้น นายชุนจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่นายประดิษฐ์สามีโจทก์ที่ 1 เกินกว่าจำนวนเนื้อที่ 1 ไร่1 งาน 32 6/10 ตารางวา รวมที่ดินพิพาทที่นายประดิษฐ์จะได้รับทั้งสิ้นจำนวน 2 ไร่ 2 งาน 65 2/10 ตารางวา เมื่อนายประดิษฐ์ถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทของนายประดิษฐ์จึงมีสิทธิได้รับมรดกส่วนของนายประดิษฐ์เป็นจำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 65 2/10 ตารางวา เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3259 เนื้อที่ 7 ไร่3 งาน 96 ตารางวา เป็นมรดกของนางอู๊ดซึ่งตกเป็นของทายาท อันได้แก่นายชุน นายประดิษฐ์สามีโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รวม 6 คน คนละเท่า ๆ กัน คือ 1 ไร่ 1 งาน 32 4/6 ตารางวา ก่อนนายชุนถึงแก่ความตาย นายชุนได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งแปลงตามที่ดินโฉนดเลขที่ 3259 ให้นายประดิษฐ์ ความจริงนายชุนมีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 32 4/6 ตารางวา เท่านั้น ต่อมาในปี 2512 จำเลยที่ 4 ผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนางอู๊ดได้รับแบ่งที่ดินพิพาทจากนายชุน โดยนายชุนได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3259 จำนวน 2 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทท้ายคำให้การหมายเลข 1 ให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้ครอบครองโดยปลูกกล้วยไม้และปลูกบ้านพักตั้งแต่ปี 2512 ตลอดมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 4 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามแผนที่เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1โดย การครอบครองปรปักษ์ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่นายประดิษฐ์ถึงแก่ความตาย คดีขาดอายุความ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง และขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสีเหลืองตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 ให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3259 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ใส่ชื่อจำเลยที่ 4

ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 แล้ว เห็นว่า ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4

จำเลยที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า คำฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสี่ไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เพียงแต่กล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิในที่ดินพิพาทในส่วนของนายประดิษฐ์ ศาลากิจ ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินพิพาทในฐานะทายาทของนายประดิษฐ์ เรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งยึดถือโฉนดที่ดินและครอบครองที่ดินพิพาทแบ่งที่ดินพิพาทในส่วนของนายประดิษฐ์ให้จำนวน 5 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยทั้งสี่และนายประดิษฐ์ นายประดิษฐ์มีส่วนได้รับเพียงไม่เกิน 2 ไร่ 2 งาน 65 2/10 ตารางวา ตามคำฟ้องและคำให้การแสดงว่าผู้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิใช่มีเพียงโจทก์ทั้งสี่แต่ยังมีส่วนเป็นของจำเลยทั้งสี่ด้วยเช่นกัน ทั้งที่ดินพิพาทยังมิได้มีการแบ่งแยกเป็นส่วนสัด ย่อมถือว่าโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของร่วมกันประเด็นที่พิพาทกันในคดีจึงมีอยู่เพียงว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิในที่ดินพิพาทมากน้อยเพียงใด การที่จำเลยที่ 4 ให้การต่อสู้ว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความมรดก เท่ากับต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทเลย และฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสี่ว่าจำเลยที่ 4 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทจำนวน 2 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา อย่างเป็นส่วนสัดโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ส่วนที่จำเลยที่ 4 ครอบครองโดยการครอบครองปรปักษ์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องแย้งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 นั้น นอกจากจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่แล้ว ยังเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจใช้สิทธิทางศาลด้วยวิธีการยื่นฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสี่เข้ามาในคดีนี้ได้ ถือได้ว่าคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 และคำฟ้องเดิมไม่เกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสามและมาตรา 179 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share