แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคำพิพากษาคดีส่วนอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ศาลเห็นได้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ ไว้แน่นอนแล้ว ดังนั้น ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะจำนวน 4,454,409.12 บาท และค่าเสียหายจากการทนทุกข์ทรมานจำนวน 16,060,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าปลงศพจำนวน 209,227.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,545,409.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูก ค่าธรรมเนียม) ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้าง วาน ใช้ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฆ่านางสาวเชอรี่แอนดันแคนบุตรสาวของโจทก์ทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 3854/2540 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2542 ลงวันที่ 23 เมษายน 2542 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยสรุปได้ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้าง วาน ใช้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฆ่าผู้ตาย ส่วนพยานแวดล้อมนอกจากเรื่องสาเหตุโกรธเคืองระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ตายแล้วยังแตกต่างขัดแย้งกัน ไม่เพียงพอที่จะใช้ลงความเห็นได้โดยสนิทใจว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้ตายเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฆ่าผู้ตาย พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้าง วาน ใช้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 ว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงในคำพิพากษาในคดีอาญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งสอง คดีจึงเหลือประเด็นแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียงใด จึงให้โจทก์ทั้งสองนำสืบพยานเฉพาะประเด็นดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ให้โจทก์ทั้งสองนำสืบในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดและนำสืบเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำเลยที่ 1 และศาลล่างทั้งสองนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งชอบหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลในคดีส่วนแพ่งจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาต้องรับฟังเป็นยุติ มิใช่ข้อเท็จจริงที่ยังไม่แน่นอน การที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในคดีส่วนอาญาให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 เพราะเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง มีความหมายว่า จำเลยที่ 1 อาจจะมิใช่ผู้กระทำผิดก็ได้ จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะผูกพันคดีส่วนแพ่ง โจทก์ทั้งสองในคดีแพ่งสามารถนำสืบพยานให้ศาลเห็นความจริงเป็นอย่างอื่นได้นั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีส่วนอาญา ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ศาลเห็นโดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฟังได้ว่าศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ ไว้แน่นอนแล้ว ดังนั้น ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ทั้งนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2512 (ประชุมใหญ่) ระหว่าง นายหมาด ทำศรี โจทก์ นางหร่อน๊ะ มัสการ จำเลย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2520 ระหว่างนางอนงค์ จันทร์สฤษดิ์ กับพวก โจทก์ นายประเสริฐ อภิรมยานนท์ กับพวก จำเลย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2532 ที่โจทก์ทั้งสองอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวและศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ