แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั้น เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมคือลูกหนี้และผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมเป็นจำเลยจะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลก็ไม่มีผลผูกพันลูกหนี้และผู้ได้ลาภงอก
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมที่ทำกับ อ. ลูกหนี้ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำนิติกรรมจำนองที่ดินกับจำเลยที่ 1 เป็นจำเลย มิได้ฟ้อง อ. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย แม้ อ. ผู้ทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จะถึงแก่ความตายไปแล้วโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ อ. เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อน อ. ถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและเป็นผู้ดูแลรักษา อ. ตลอดมา จึงเป็นไปไม่ได้ที่ อ. จะทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะขัดต่อเหตุผล ถือว่านิติกรรมดังกล่าวทำขึ้นเพื่อฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น เป็นเพียงการบรรยายข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า อ. กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำนิติกรรมเพื่อฉ้อฉลโจทก์เท่านั้น มิใช่การบรรยายฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. เมื่อโจทก์มิได้ฟ้อง อ. หรือทายาทของ อ. โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนางอุดมพรต่อมานางอุดมพรถึงแก่ความตายและโจทก์ตรวจสอบพบว่านางอุดมพรทำนิติกรรมขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27905 พร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ในราคา 200,000 บาท และ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบดีว่าการทำนิติกรรมขายและจำนองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่สามารถบังคับคดีจากทรัพย์ดังกล่าวได้ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทระหว่างนางอุดมพรกับจำเลยที่ 1 และเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางอุดมพรและเพิ่งทราบว่านางอุดมพรเป็นหนี้โจทก์เมื่อมีหมายคดีนี้ นางอุดมพรเป็นหนี้บุคคลภายนอกแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จึงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ได้ขอกู้เงินจำเลยที่ 2 โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันแล้วนำเงินไปชำระหนี้บุคคลภายนอก ชำระค่าที่ดินแก่นางอดมพร นำไปใช้จ่ายภายในบ้าน และจ่ายค่ารักษาพยาบาลนางอุดมพร ซึ่งป่วยเป็นหอบหืดมานาน 30 ปี นิติกรรมซื้อขายและจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าวทำด้วยความสุจริต มีค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยชอบแล้ว โจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาที่อาจใช้สิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว แต่โจทก์อ้างว่าเพิ่งทราบเหตุจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักนางอุดมพรเพิ่งทราบเมื่อจำเลยที่ 2 มาขอกู้เงินจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปชำระค่าที่ดินแก่นางอุดมพรโดยนำที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาจำนองเป็นประกัน จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานมีเงินเดือนประจำและที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอยู่ในเกณฑ์และระเบียบที่จะขอสินเชื่อเงินกู้ได้ จึงอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นประกัน นิติกรรมดังกล่าวทำขึ้นโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าโจทก์กับนางอุดมพรมีหนี้สินต่อกันอย่างไร โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพร้อมบ้านพิพาท และการใช้สิทธิของโจทก์ไม่สุจริตเนื่องจากโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปี 2542 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนางอุดมพรซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว ก่อนถึงแก่ความตายนางอุดมพรได้ทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2543 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมจำนองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั้น เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมคือลูกหนี้และผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมเป็นจำเลยในคดี จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลก็ไม่มีผลผูกพันลูกหนี้และผู้ได้ลาภงอกดังกล่าว เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมที่ทำกับนางอุดมพรลูกหนี้ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำนิติกรรมจำนองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยเท่านั้น มิได้ฟ้องลูกหนี้ของโจทก์เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย แม้ลูกหนี้ของโจทก์คือนางอุดมพรผู้ทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จะถึงแก่ความตายไปแล้วโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนางอุดมพรเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนนางอุดมพรถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและเป็นผู้ดูแลรักษานางอุดมพรตลอดมา จึงเป็นไปไม่ได้ที่นางอุดมพรจะทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะขัดต่อเหตุผล ถือว่านิติกรรมดังกล่าวทำขึ้นเพื่อฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น เป็นเพียงการบรรยายข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่านางอุดมพรกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำนิติกรรมเพื่อฉ้อฉลโจทก์เท่านั้น หาใช่การบรรยายฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางอุดมพรดังที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้หรือทายาทของลูกหนี้เข้ามาในคดีโจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ