คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5642/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยและสั่งริบรถยนต์บรรทุกของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รถยนต์บรรทุกของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ ก็ฟังได้แล้วว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ทั้งการสั่งริบของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เป็นดุลพินิจของศาล การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าเห็นควรไม่ริบรถยนต์บรรทุกของกลางเท่ากับเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แล้ว
ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าไม่ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3, 61, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3, 61 (ที่ถูกมาตรา 61 วรรคหนึ่ง), 73 จำคุก 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าไม่ริบรถยนต์บรรทุกของกลางนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้ให้เหตุผลในการวินิจฉัยว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันเป็นทรัพย์ที่ควรริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) หรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกซึ่งมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์บรรทุกของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รถยนต์บรรทุกของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ ก็ฟังได้แล้วว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ทั้งการสั่งริบของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เป็นดุลพินิจของศาล การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าเห็นควรไม่ริบรถยนต์บรรทุกของกลางเท่ากับเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าไม่ริบรถยนต์บรรทุกของกลางเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ภายหลังที่จำเลยกระทำความผิดได้มีพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 29 และมาตรา 30 ยกเลิกความในมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และให้เพิ่มความเป็นมาตรา 73/2 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 ซึ่งความผิดฐานใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 73/2 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย”
พิพากษายืน

Share