คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5444/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ถุงเท้าที่มีการนำตราเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายติดอยู่บริเวณข้อเท้า ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 แล้ว ถึงแม้จะมีตราฉลากเครื่องหมายการค้าของจำเลยติดอยู่ด้วย ก็หาทำให้เครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายที่ติดอยู่กลับเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทไนกี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แอลทีดี. จำกัดผู้เสียหายที่ 1 บริษัทคาร์เทียร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บี.วี. จำกัดผู้เสียหายที่ 2 บริษัทบาล์ลี่ ชูห์ฟาบริเกน เอ.ยี. จำกัดผู้เสียหายที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ชื่อ รูป รอบประดิษฐ์ในการประกอบการค้า เป็นคำตัวอักษรโรมัน คำว่า “NIKE”และมีรูปขนนกอยู่ใต้ตัวอักษร “Cartier” และมีรูปขนนกอยู่ใต้ตัวอักษร “Cartier” และรูปตัวซี ไขว้ กัน และ “BALLY” ตามลำดับ โดยนำชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าไว้ที่กองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 38 อันได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายรวมทั้งถุงเท้าด้วย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน คือ ก.จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันเอาชื่อรูป รอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของผู้เสียหายทั้งสามมาใช้ทอ ปัก เย็บ ติดประทับ ทำให้ปรากฏที่สินค้าถุงเท้าที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันผลิตขึ้นเพื่อให้ผู้อื่นและประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าถุงเท้าของผู้เสียหายทั้งสาม ข. จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสามซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว โดยทำให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสามแล้วนำไป ทอปักเย็บติดประทับ ที่ด้านข้างของสินค้าถุงเท้าที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันผลิตขึ้นเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าถุงเท้าที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสามเป็นสินค้าถุงเท้าของผู้เสียหายทั้งสาม ค.จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเสนอจำหน่าย ซึ่งสินค้าถุงเท้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสามอย่างละ 1 โหลอันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันผลิตและทำปลอมขึ้นนั้นให้แก่นายชุมพล นุ่มกลิ่น ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272, 273,275, 83, 91, 33 ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9007/2532,11349/2532 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 (ที่ถูกมาตรา 275 ประกอบมาตรา273, 83)ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 5,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก2 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้นศาลได้มีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 จึงไม่นับโทษต่อให้ ข้อหาอื่นให้ยก โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงข้อเดียวว่า การที่ถุงเท้าตามวัตถุพยานหมาย จ.1 มีเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ติดอยู่ด้วยจะถือว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 หรือไม่อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองได้เสนอจำหน่ายสินค้าตามวัตถุพยานหมาย จ.1ซึ่งเป็นถุงเท้าที่มีการนำตราเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหาย ทั้งสามติดอยู่บริเวณข้อเท้า ดังนี้ จึงต้องถือว่าสินค้าตามวัตถุพยานหมาย จ.1 เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 แล้วและถึงแม้จะมีตราฉลากเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ติดอยู่ ด้วยก็หาทำให้เครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายทั้งสามที่ติดอยู่กลับเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงไม่ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share