แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารเป็นความผิดตามมาตรา 42 มิใช่เป็นความผิดอยู่ในบทมาตราเดียวกัน สำหรับมาตรา 65 นั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดโทษของความผิดตามมาตรา 21, 42 และมาตราอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย ทั้งโจทก์ก็ได้บรรยายมาในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม โดยระบุวันเวลาที่กระทำผิดแต่ละฐานต่างกันและลักษณะการกระทำผิดย่อมแยกออกต่างหากจากกันได้ ดังนั้นจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
โจทก์ได้ระบุในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารและเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคาร เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3ถึงที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการนั้นขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 รับฟังไม่ได้ และโจทก์ได้มีคำขอให้ลงโทษตามมาตรา 69 มาด้วย ซึ่งตามมาตรา 69 ได้บัญญัติไว้ว่า”ถ้าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ” เมื่อความผิดตามมาตรา 65 วรรคสอง มีอัตราโทษปรับวันละ 500 บาท ศาลชั้นต้นจึงปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 วันละ 1,000 บาท ต่อคน ตามมาตรา 65 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 69 ได้ หาเป็นการเกินคำขอไม่
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจำเลยนอกนั้นเป็นกรรมการร่วมกันกระทำความผิด เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันกระทำความผิดในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 72แต่กรณีที่ลงโทษปรับผู้กระทำผิดหลายคน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.อ.มาตรา 31 ประกอบด้วยมาตรา 17 มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 31 ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จะกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้กักขังจำเลยที่ 1 หากไม่ชำระค่าปรับ จึงเป็นการไม่ชอบ