คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1371/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในชั้นแรกจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธฟ้องว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ต่อมากลับให้การว่า หากศาลฟังว่าเป็นการเลิกจ้าง ก็เป็นการเลิกจ้างด้วยความเป็นธรรมเพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเรียกร้องผลประโยชน์จากโรงงานผู้ขายสินค้ากับประกอบกิจการค้าอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 และเปิดเผยความลับในทางการค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งเพราะเหตุละเมิดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขที่ไม่สมควรจะรับไว้พิจารณากับฟ้องเดิม

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกับคดีหมายเลขดำที่ 885/2535, ที่ 889-891/2535, และที่1553/2535 ของศาลแรงงานกลาง แต่คดีดังกล่าวคู่ความมิได้อุทธรณ์คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2519 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดการซื้อสินค้าได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 เดือนละ125,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 2 มอบหมายให้โจทก์จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นในประเทศไทย โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด โจทก์ถือหุ้นส่วนที่เหลือบางส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารธุรกิจและการเงินของจำเลยที่ 1 โดยมอบให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 มีอำนาจสั่งการหรือดำเนินกิจการ รวมทั้งบรรจุแต่งตั้งและเลิกจ้างพนักงาน จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 มีฐานะเป็นนายจ้างในบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 55,000 บาท ค่าน้ำมันรถยนต์เดือนละ 3,500 บาท ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์และในวันที่11 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1แจ้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิด เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 85,922,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การกับฟ้องแย้งโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีการบริหารงานเป็นเอกเทศไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของจำเลยที่ 2 การแต่งตั้งถอดถอนหรือการเลิกจ้างพนักงานเป็นอำนาจของโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการในบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 การเลิกจ้างจะกระทำได้ก็แต่โดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น หากศาลฟังว่าเป็นการเลิกจ้างก็เป็นการเลิกจ้างด้วยความเป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือค่าชดเชย เพราะในระหว่างที่ทำงานกับจำเลยที่ 1โจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้เรียกร้องผลประโยชน์จากโรงงานผู้ขายสินค้า ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าคุณภาพต่ำโจทก์ยังประกอบกิจการค้าอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 กับได้เปิดเผยความลับในทางการค้าของจำเลยที่ 1และขัดขวางไม่ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสะดวกอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000,000 บาท
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งโจทก์ว่า คดีนี้เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคดีพิพาทในทางแพ่งไม่อยู่ในอำนาจศาลแรงงาน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทจำนวนที่ 1 แต่ไม่มีอำนาจครอบงำหรือสั่งการใด ๆ จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างก่อนที่จะมีการตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2เคยมอบหมายให้โจทก์ดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยและมอบให้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 หลังจากตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการแล้ว โจทก์ไม่ปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยประกอบกิจการค้าอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับจำเลยที่ 2 โจทก์เรียกร้องผลประโยชน์จากโรงงานผู้ขายสินค้าและเปิดเผยความลับทางการค้าทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 50,000,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าโจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยถูกกล่าวหาว่าเรียกร้องผลประโยชน์จากโรงงานผู้ขายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยประกอบกิจการค้าส่วนตัวอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเปิดเผยความลับในทางการค้าของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้แก่ลูกค้าและบริษัทคู่แข่งของจำเลยที่ 1 กับไม่เคยขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานของจำเลยที่ 1 จนได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1และที่ 2
ในวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์ว่าเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมีคำสั่งใหม่ไม่รับฟ้องแย้งดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2จึงไม่มีประโยชน์แก่การพิจารณาต่อไป ให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 2จากสารบบความของศาลฎีกา คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้แต่เพียงว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขหรือไม่ พิเคราะห์คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1แล้ว เห็นว่า ในชั้นแรกจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธฟ้องว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับให้การว่า หากศาลฟังว่าเป็นการเลิกจ้าง ก็เป็นการเลิกจ้างด้วยความเป็นธรรมเพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเรียกร้องผลประโยชน์จากโรงงานผู้ขายสินค้ากับประกอบกิจการค้าอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับจำเลยที่ 1 และเปิดเผยความลับในทางการค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งเพราะเหตุละเมิดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวอ้างมาเช่นนี้มีผลเท่ากับเป็นการไม่ยอมรับว่ามีปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามฟ้องเดิมของโจทก์เลย เว้นแต่ศาลจะฟังว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เสียก่อนจึงจะไปพิจารณาในปัญหาข้อพิพาทอันเกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ได้ภายหลัง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขที่ไม่สมควรจะรับไว้พิจารณากับฟ้องเดิม ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share