คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีฟ้องให้ทำร่องน้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นคดีฟ้อง ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
โจทก์ยินยอมให้จำเลยทิ้งดินจากเรือขุดลงในที่ดินของโจทก์รวมทั้งที่สาธารณะที่โจทก์ปกครองอยู่โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น การทิ้งดินของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทกันด้วยทุนทรัพย์ไม่เกินสองหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ให้ยกอุทธรณ์โจทก์โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทำร่องน้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินให้โจทก์ จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาในคดีนี้ไปเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

ประเด็นสำคัญแห่งคดีนี้อยู่ที่ว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำการขุดลอกคลองสองพี่น้องโดยปล่อยดินจากท่อเรือขุดทิ้งลงในที่ลำลาดเป็นผลให้กลบร่องน้ำที่โจทก์เคยใช้เป็นทางนำเรือเข้าออกจากบ้านสู่คลองสองพี่น้องนั้นเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะทำการขุดลอกคลองสองพี่น้องนี้ ได้มีการประชุมราษฎรที่ศาลาประชาคมวัดสองพี่น้องเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2520 ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องขุดคลองระบายใหญ่สองพี่น้องเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการทิ้งดินจากเรือขุด 31 ซึ่งเป็นเรือชนิดท่อ ขอบเขตของการทิ้งดินจะมีบริเวณกว้างเพราะน้ำและดินจะไหลออกจากท่อพร้อมกัน อาจมีการไหลไปลงบ่อปลาของราษฎรซึ่งบ่อปลาบางแห่งก็อยู่ในที่สาธารณะ บางแห่งก็อยู่ในโฉนดมีเจ้าของ กำลังดันของน้ำและดินที่ออกจากท่อมีกำลังแรงมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่อาคารและทรัพย์สินของราษฎรได้ ราษฎรที่เข้าประชุมรวมทั้งโจทก์ด้วยต่างเห็นพ้องกันว่า การขุดลอกคลองสองพี่น้องครั้งนี้มีความจำเป็น แม้จะมีการเสียทรัพย์สินหรือเดือดร้อนบ้างก็ยินยอมและจะไม่เรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยทั้งสิ้น ซึ่งโจทก์ได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้เป็นหลักฐานในหนังสือให้ความยินยอมหมาย ล.1 และในบันทึกการประชุมหมาย ล.2 ร่วมกับราษฎรอื่น ๆ อีก 30 กว่าคน มีใจความว่าโจทก์ยอมให้ใช้ที่ดินที่โจทก์ปกครองอยู่เพื่อขุดลอกคลองสองพี่น้อง โดยเรือขุดของกรมชลประทานโดยจะไม่เรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น

ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้ทิ้งดินจากเรือขุดลงในที่ดินของโจทก์เท่านั้น แต่ไม่ได้ยินยอมให้ทิ้งดินกลบร่องน้ำในลำลาดอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วยนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามบันทึกการประชุมหมาย ล.2 มีข้อความชัดเจนว่า จำเลยที่ 2 ได้ชี้แจงต่อราษฎรว่าขอบเขตของการทิ้งดินจะมีบริเวณกว้างขวาง เพราะกำลังดันของน้ำและดินที่ไหลออกจากท่อเรือขุดมีกำลังดันแรงมาก อาจทำความเสียหายแก่บ่อปลาซึ่งอยู่ในเขตที่สาธารณะหรือในเขตที่มีโฉนดได้ และสอบถามราษฎรที่มาประชุมทุกคนว่าใครมีปัญหาอะไรก็ให้สอบถาม แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการพูดจากันถึงเรื่องร่องน้ำในลำลาดเลย การที่โจทก์ได้แสดงเจตนายินยอมให้ทิ้งดินในที่ซึ่งตนปกครองอยู่โดยมิได้กล่าวยกเว้นถึงร่องน้ำในลำลาดเลยเช่นนี้ ย่อมแสดงว่าโจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทิ้งดินได้ทั้งในเขตโฉนดของโจทก์และในเขตที่ดินสาธารณะที่โจทก์ปกครองอยู่ทั้งสิ้น ถ้าหากโจทก์ต้องการให้ยกเว้นเป็นพิเศษสำหรับร่องน้ำในลำลาดแล้วก็คงจะต้อกล่าวไว้ให้ปรากฏในหนังสือให้ความยินยอมหมาย ล.1หรือในบันทึกการประชุมหมาย ล.2 นั้นด้วยแล้ว

คดีฟังได้ว่า โจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทิ้งดินจากเรือขุดลงในที่ดินของโจทก์ รวมทั้งในที่สาธารณะที่โจทก์ปกครองอยู่ได้โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้นแล้ว การทิ้งดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์”

พิพากษายืน

Share