แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ประมวลรัษฎากรฯ ที่ระบุให้ตราสารต้องปิดแสตมป์ในอัตราที่กำหนดไว้ จึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามมาตรา 118นั้น มีเฉพาะตั๋วแลกเงินและเลตเตอร์ออฟเครดิตเท่านั้น ส่วนสัญญาทรัสต์รีซีทไม่อยู่ในรายการให้ต้องปิดแสตมป์ สำหรับตั๋วแลกเงินและเลตเตอร์ออฟเครดิตแม้จะไม่มีแสตมป์ปิดไว้ แต่โจทก์ผู้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตและตั๋วแลกเงินเป็นธนาคารพาณิชย์ ชำระค่าอากรตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรฯ เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ฯ ดังนั้นแม้ตราสารดังกล่าวจะไม่มีแสตมป์ปิดไว้แต่โจทก์ก็นำสืบได้ว่าได้ชำระอากรแล้ว จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118
ข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีท จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เป็นผู้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในช่วงเวลาใดได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร ซึ่งเมื่อโจทก์จ่ายเงินชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปตาเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงินตราต่างประเทศแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ตกลงกันไว้ เมื่อโจทก์จ่ายเงินแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตในอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 37.155 บาท จำเลยทั้งสี่ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินในระยะเวลาตามที่โจทก์ขอมาในคำฟ้องมีค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 25 บาท จึงฟังว่าอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับเงินบาทไทยตามที่โจทก์นำสืบ ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน
จากเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นการยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เข้าก่อหนี้กับโจทก์ ไม่ว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนที่จะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน ขณะทำสัญญาค้ำประกัน หรือหลังทำสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น หนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อนทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน และหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หลังทำหนังสือสัญญาค้ำประกันต่างก็เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกถอนไม่ได้เพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศโดยโจทก์จ่ายเงินให้ไปแล้วตามตั๋วแลกเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้โจทก์ไว้ด้วย ในการที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการค้ำประกันหนี้ทุกชนิดตลอดไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งที่เป็นหนี้ก่อนทำสัญญาขณะทำสัญญาและหนี้ที่จะมีขึ้นภายภาคหน้า แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวจึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนวน 238,653,728.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน183,680,712.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยขอให้โจทก์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิต ทำสัญญาทรัสต์รีซีท และออกตั๋วแลกเงินใด ๆ ดังที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8, 12 และ 16 จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำฟ้อง การที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 37.1550 บาท 42.1500 บาท และ 41.5500 บาทเป็นการที่โจทก์แสวงหากำไรเกินควรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25 บาท เท่านั้น นอกจากนี้โจทก์ยังคิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตกลงกันในอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ทำให้จำนวนหนี้สูงกว่าเป็นจริง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ถึงจำนวนตามคำฟ้อง เพราะไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และตัวแทนผู้บริโภคขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 57 หากจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ก็คงรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12 และ 16 เท่านั้น ส่วนสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข8 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นการค้ำประกันหนี้สินอื่นของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทคดีนี้ อย่างไรก็ตามหากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องหมายเลข 8 คงรับผิดไม่เกินจำนวนหนี้ที่แท้จริงตามสัญญา ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินตามคำฟ้องกรรมการธนาคารโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ เพราะขณะฟ้องคดีโจทก์มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำการแทนโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 238,653,728.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 183,680,712.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า เลตเตอร์ออฟเครดิต ตั๋วแลกเงินและสัญญาทรัสต์รีซีทไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น เห็นว่า ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรที่ระบุให้ตราสารต้องปิดอากรแสตมป์ในอัตราที่กำหนดไว้จึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 คงมีเฉพาะตั๋วแลกเงิน(ลักษณะตราสาร 9.(1)) และเลตเตอร์ออฟเครดิต (ลักษณะตราสาร 14.) เท่านั้น ส่วนสัญญาทรัสต์รีซีทไม่อยู่ในรายการตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรให้ต้องปิดอากรแสตมป์แต่อย่างใด สำหรับตั๋วแลกเงินและเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวนั้น แม้จะไม่มีอากรแสตมป์ปิดไว้ดังเช่นจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ แต่โจทก์ผู้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตและตั๋วแลกเงินเป็นธนาคารพาณิชย์ จึงมีสิทธิที่จะชำระค่าอากรตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรสำหรับตราสารทั้งสองเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์(ฉบับที่ 22) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ข้อ 3(1) ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วเงินเฉพาะที่ธนาคารประกอบกิจการในราชอาณาจักรหรือธนาคารประกอบกิจการนอกราชอาณาจักรเป็นผู้สั่งจ่ายตามลักษณะแห่งตราสาร 9.(1) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ข้อ 2(7) เลตเตอร์ออฟเครดิตตามลักษณะแห่งตราสาร 14. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังนั้นแม้ตราสารดังกล่าวจะไม่มีอากรแสตมป์ปิดไว้ แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบตามที่ปรากฏที่ด้านหลังตราสารตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.7 จ.11 และ จ.15 ที่โจทก์เป็นผู้ออกว่า โจทก์ได้ชำระอากรแล้ว ส่วนเลตเตอร์ออฟเครดิต 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.6จ.10 และ จ.14 ที่โจทก์เป็นผู้ออก ก็ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินพร้อมคำแปลเอกสารหมายจ.8 และ จ.12 และ จ.16 ว่า โจทก์ได้ชำระค่าอากรแสตมป์สำหรับเลตเตอร์ออฟเครดิต3 ฉบับดังกล่าวแล้วเช่นกันซึ่งจำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบโต้แย้งหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าอากรเป็นตัวเงินในการออกตราสารตั๋วแลกเงินและเลตเตอร์ออฟเครดิตแทนการปิดแสตมป์อากรแล้ว ตราสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตออกตั๋วแลกเงิน และทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้กับโจทก์ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จำเลยที่ 1 แทนจำเลยที่ 1 ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จ.10 และ จ.11 กับ จ.14 และ จ.15 นั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์สรุปว่า โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินไม่ถูกต้องตามที่ตกลงไว้ในสัญญา และโจทก์ซึ่งมีหน้าที่พิสูจน์ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับเงินบาทไทยเท่าใด ดังนั้น จึงต้องรับฟังตามที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25 บาท จำนวนหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำฟ้องของโจทก์สูงเกินจริงโจทก์แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินนั้น เห็นว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.9 จ.13 และ จ.17 ซึ่งแต่ละฉบับในข้อ 4 มีความตรงกันว่า “…ข้าพเจ้าต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายให้แก่ธนาคาร โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ ในรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้าหรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท หรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายสัญญานี้ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร…” ตามข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เป็นผู้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร ซึ่งเมื่อโจทก์จ่ายเงินชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงินตราต่างประเทศแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ตกลงกันไว้ ในการที่โจทก์จ่ายเงินแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.6 จ.10 และ จ.14 นั้น โจทก์ได้นำสืบแล้วว่าโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 37.155 บาท ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 เอกสารหมาย จ.8 เท่ากับ 41.55 บาท ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 20 สิงหาคม 2541 เอกสารหมาย จ.12 และเท่ากับ 42.15 บาท ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 14 สิงหาคม 2541 เอกสารหมาย จ.16 แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินในระยะเวลาตามที่โจทก์ขอมาในคำฟ้องมีค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25 บาท เช่นที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับเงินบาทไทยตามจำนวนที่โจทก์นำสืบมา มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินดังเช่นที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ออกตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.24 และ จ.25 ว่าไม่อาจบังคับได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 57 นั้น เห็นว่าประกาศธนาคารโจทก์ดังกล่าวออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 บัญญัติให้อำนาจไว้ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.24 และ จ.25 จึงมีผลสมบูรณ์บังคับได้โดยชอบ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 57 เพราะไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และตัวแทนผู้บริโภคดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำฟ้องนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่เกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12 และ 16 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จริงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว เมื่อโจทก์มีเพียงบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ อรศิริสกุล มาเป็นหลักฐานเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 จะไม่นำพยานเข้าสืบ แต่โจทก์สืบไม่สมกับข้ออ้างตามคำฟ้องจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12 และ 16 ดังกล่าว นอกจากโจทก์จะมีนายวรพงศ์มาเป็นพยานดังที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์แล้ว โจทก์ยังมีสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทต้นฉบับเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12 และ 16 คือเอกสารหมาย จ.13 (แผ่นที่ 2 ด้านหลัง) และ จ.17 (แผ่นที่ 2 ด้านหลัง) ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์มาแสดงเป็นพยานหลักฐานประกอบด้วย ซึ่งเป็นการที่โจทก์ได้นำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างในคำฟ้องตามภาระหน้าที่ของโจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสี่กลับมิได้นำพยานหลักฐานใดเข้าสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่นและเพื่อสนับสนุนคำให้การของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เลยว่าจำเลยที่ 2 มิได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามเอกสารหมาย จ.13 (แผ่นที่ 2 ด้านหลัง) และ จ.17 (แผ่นที่ 2 ด้านหลัง) และเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อของจำเลยที่ 2ในช่องผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.13 (แผ่นที่ 2 ด้านหลัง) และ จ.17 (แผ่นที่ 2ด้านหลัง) กับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในใบแต่งตั้งทนายความของจำเลยที่ 2 และลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในช่องผู้ค้ำประกันคนแรกตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8ซึ่งก็คือเอกสารหมาย จ.18 ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้แถลงยอมรับไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฉบับลงวันที่ 9ธันวาคม 2542 แล้วเชื่อได้ว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.13 (ด้านหลัง) และ จ.17 (ด้านหลัง) เพื่อค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.13 (ด้านหน้า) และจ.17 (ด้านหน้า) นั้นชอบแล้ว แต่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น แม้สัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.13 (แผ่นที่ 2 ด้านหลัง) และ จ.17 (แผนที่ 2 ด้านหลัง) ต่างระบุชื่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ก็ตาม แต่สัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.13 (ด้านหลัง) และ จ.17 (ด้านหลัง) นั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทตามเอกสารหมาย จ.13 (ด้านหน้า) และ จ.17 (ด้านหน้า)ไม่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทเอกสารหมายจ.13 (ด้านหลัง) และ จ.17 (ด้านหลัง) นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8 หรือไม่โดยจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12 และ 16 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท แต่เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8 ระบุว่าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดของจำเลยที่ 1 บริษัทจิวเต็กเซ้ง (1978) จำกัด และบริษัทที.อาร์.ซี. คอร์โปเรชั่น จำกัด แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8 แต่ก็ไม่ใช่การค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 คดีนี้ แต่เป็นการค้ำประกันหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8 จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8 หรือเอกสารหมาย จ.18 ได้ระบุหัวเรื่องไว้ชัดเจนว่า “หนังสือสัญญาประกัน (ใช้สำหรับค้ำประกันหนี้ทุกชนิดตลอดไปโดยไม่สิ้นสุด)” โดยข้อ (1) มีข้อความว่า “ผู้ค้ำประกันยินยอมเข้าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดบรรดาที่บริษัทจิวเต็กเซ้ง (1978) จำกัด บริษัทจิวัฒน์ธนา จำกัด และบริษัท ที.อาร์.ซี.คอร์โปเรชั่น จำกัด (ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า “ลูกหนี้”) ได้เป็นหนี้ต่อธนาคารอยู่แล้วก่อนวันทำสัญญานี้ และหรือเป็นหนี้อยู่ในขณะทำสัญญานี้ และรวมทั้งหนี้สินที่ลูกหนี้จะได้เป็นหนี้ต่อธนาคารหลังจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าหนี้สินเหล่านั้นจะเป็นหนี้สินที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ลูกหนี้ได้หรือจะได้กู้เงินหรือเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารก็ดีลูกหนี้ได้หรือจะได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือเอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกันต่อธนาคารก็ดี ลูกหนี้ได้หรือจะได้รับสินค้าไปจากธนาคารโดยวิธีทรัสต์รีซีทหรือโดยวิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันก็ดี ลูกหนี้ได้หรือจะได้เข้าค้ำประกันหรือรับรองหนี้สินหรือความรับผิดของบุคคลอื่นใดที่มีอยู่ต่อธนาคารก็ดี ลูกหนี้ได้หรือจะได้รับรองหรือร้องขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันความรับผิดหรือหนี้สินตามสัญญาที่ลูกหนี้ได้หรือจะได้เข้าเป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอกก็ดี ตลอดจนหนี้สินอื่น ๆ ทุกอย่างทุกชนิดบรรดาที่ลูกหนี้ได้หรือจะได้เป็นหนี้ต่อธนาคารไม่ว่าจะโดยนิติกรรมหรือข้อผูกพันใด ๆ ก็ดี ทั้งนี้รวมกันเป็นวงเงิน แอลซี ทีอาร์ 150,000,000 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน) และอุปกรณ์แห่งหนี้ อันได้แก่ ค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าหนึ่งปีธนาคารนำมาทบเป็นต้นเงินใหม่ ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีเพื่อบังคับใช้ชำระหนี้…เป็นอาทิอีกต่างหากตลอดไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้จนสิ้นเชิงทุกประการ” จากเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.18 เป็นการยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เข้าก่อหนี้กับโจทก์ไม่ว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนที่จะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน ขณะทำสัญญาค้ำประกัน หรือหลังทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.18 ดังนั้นหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.6 และ จ.9 ซึ่งเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อนทำหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.18 และหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.10 และจ.13 กับจ.14 และ จ.17 ซึ่งเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หลังทำหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.18 ต่างก็เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.18 แล้ว และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อีกด้วยตามเอกสารหมาย จ.18 ข้อ(3) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.18 เป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ด้วยนั้นเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เต็มตามคำฟ้องคือหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือสัญญาทรัสต์รีซีทรวม 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 183,680,712.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.18 เป็นเงิน 150,000,000 บาท รวมทั้งอุปกรณ์ของหนี้ด้วยเท่านั้น ไม่ได้ร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดต่อโจทก์แต่อย่างใด และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.13 (ด้านหลัง) ข้อ 1 และ จ.17 (ด้านหลัง) ข้อ 1 และเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.13 (ด้านหน้า) และ จ.17 (ด้านหน้า) รวมเป็นเงิน95,010,257.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น นอกจากนี้ตามสภาวะทางการเงินของประเทศอันเห็นได้จากประกาศธนาคารโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดตามเอกสารหมาย จ.25 และ จ.24 มีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอีก การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นนั้น อาจจะยิ่งเป็นภาระแก่จำเลยทั้งสี่ต่อไปมาก ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดใหม่ให้เหมาะสม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 238,653,728.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี หรือตามประกาศธนาคารโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อประเภทอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีมีกำหนดระยะเวลา ที่ออกตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฎิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ที่มีในภายหลัง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้ ในต้นเงินจำนวน183,680,712.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 และ 4 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 150,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและระยะเวลาในบัญชีตามตารางการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ. 23 นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป จนถึงวันฟ้อง และถัดจากวันฟ้องในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี หรือตามประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อประเภทอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีมีกำหนดระยะเวลา ที่ออกตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดที่มีในภายหลังแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง