แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 บัญญัติว่านายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง กรณีสัญญาจ้างมี กำหนดระยะเวลาการจ้าง แน่นอนและมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการด้วย แต่จำเลยมิได้ให้การ ต่อสู้ถึงลักษณะงานว่าเป็นการจ้างตามที่กำหนดไว้ดังกล่าว แม้จำเลย จะฎีกาว่าเป็นการจ้างมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนก็เป็นฎีกาที่ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย การที่พนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 60 ปี ตามพ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงาน และให้รัฐวิสาหกิจ ถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น แต่การพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุ ดังกล่าวจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว ถือ ว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างแล้ว เพราะโจทก์ต้องออกจากงาน โดยไม่ได้กระทำผิดตามข้อ 47.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 38,040 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย เนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 และถือได้ว่าเป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์เป็นพนักงานประจำของจำเลย ทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 3 ปี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้อง และโจทก์ทราบข้อกำหนดเรื่องเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตั้งแต่เข้าทำงานโดยไม่คัดค้านเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน38,040 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 1 ตุลาคม 2533 ) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าการที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ เป็นกรณีสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยได้สิ้นสุดลงตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ซึ่งโจทก์ได้ทราบและยอมรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับข้อกำหนดระยะเวลาการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคท้าย เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อดังกล่าวได้มีการแก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม2532 ข้อ 7 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2532ว่ากรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนั้น นอกจากสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการด้วย คดีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 มีผลใช้บังคับแล้วผลของการเลิกจ้างจึงต้องบังคับและเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 แต่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงลักษณะงานว่าเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการดังนั้น ปัญหาว่าการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายคือ พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ไม่ใช่การเลิกจ้างและการที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6)ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในคำนิยามของคำว่า การเลิกจ้าง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างอันจะได้รับค่าชดเชยอีกนั้น เห็นว่า ที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 บัญญัติว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงาน และเป็นบทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้นส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่าการเลิกจ้างไว้ว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47อันหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ดังนั้น การที่จำเลยดำเนินการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เพราะเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังกล่าว ส่วนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในความหมายของคำว่าการเลิกจ้างเช่นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5)ก็เนื่องจากเห็นว่าความหมายของคำว่าการเลิกจ้างที่ให้ไว้ครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วหาใช่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6)ไม่มีความประสงค์ที่จะถือว่าการเกษียณอายุไม่เป็นการเลิกจ้างไม่…”
พิพากษายืน.