คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5434/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาเช่าช่วงอาคารจากจำเลยทั้งสอง และตกลงจะไปจดทะเบียนการเช่าช่วงโดยทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการในการที่จะจดทะเบียนการเช่าช่วงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้กำหนดวันที่จะจดทะเบียนการเช่าช่วงแล้ว เป็นการที่จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาไปแล้วทุกประการ การที่จำเลยที่ 1 ถูกผู้ให้เช่าเดิมฟ้องขับไล่ออกจากทรัพย์ที่เช่าและศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และผู้ให้เช่าเดิมได้คัดค้านการให้เช่าช่วงนั้น ไม่อาจจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาแต่ประการใดโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เงินที่จำเลยที่ 1 รับจากโจทก์ในวันทำสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าตอบแทนการที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าช่วง เมื่อมิได้มีการจดทะเบียนการเช่าช่วงกัน จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิอันใดที่จะได้เงินค่าตอบแทนจากโจทก์ ชอบที่จะให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงทำสัญญาเช่าอาคารกับจำเลยทั้งสองจำเลยเรียกค่าตอบแทนการเช่าช่วงจากโจทก์ โจทก์ชำระค่าตอบแทนให้จำเลยแล้ว ที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนการเช่าช่วงนายวรพันธ์คัดค้านการเช่าช่วง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่าตอบแทนคืน จำเลยทั้งสองกลับนัดหมายให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าช่วงอาคารพิพาทพร้อมนำเงินค่าตอบแทนที่เหลือไปชำระให้จำเลย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 52,031 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทราบก่อนทำสัญญาเช่าช่วงแล้วว่านายวรพันธ์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากอาคารพิพาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนการเช่าช่วงเป็นการผิดสัญญาทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 660,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้เงิน 104,787.85 บาทแก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นตามฎีกาของโจทก์สองประการคือ โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าตอบแทนจำนวน 50,000 บาท คืนจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ สำหรับในประเด็นข้อแรกนั้น โจทก์อ้างในฎีกาว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หากแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดสัญญา เพราะในขณะทำสัญญากันจำเลยที่ 1 ถูกผู้เช่าเดิมฟ้องขับไล่ให้ออกจากทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าช่วงโดยโจทก์ไม่รู้ ต่อมาเมื่อโจทก์รู้เรื่องนี้ก่อนจดทะเบียนการเช่าช่วง โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 เป็นการตกลงเช่าช่วงทรัพย์ที่จำเลยที่ 1เป็นผู้เช่าจากผู้ให้เช่าเดิม กำหนดอัตราค่าเช่าและค่าตอบแทนในการเช่าช่วงไว้ และตกลงกันไว้ว่าจะไปจดทะเบียนการเช่าช่วงซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ได้ดำเนินการในการที่จะจดทะเบียนการเช่าช่วงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว จนในที่สุดก็ได้กำหนดวันที่จะจดทะเบียนการเช่าช่วงแล้วเป็นการที่จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาไปแล้วทุกประการ การที่จำเลยที่ 1 ถูกผู้ให้เช่าเดิมฟ้องขับไล่ออกจากทรัพย์ที่เช่า และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และผู้ให้เช่าเดิมได้คัดค้านการให้เช่าช่วงนั้น ไม่อาจจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาแต่ประการใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ สัญญายังคงมีผลบังคับอยู่โจทก์มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการเช่าช่วงกับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์กลับปฏิเสธไม่จดทะเบียนการเช่าช่วงดังกล่าว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนข้อสองที่ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าตอบแทนจำนวน 50,000 บาท คืนจากจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้นเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ชำระค่าตอบแทนสำหรับการที่จำเลยที่ 1 ได้ให้เช่าช่วงไว้แก่จำเลยที่ 1 แล้วบางส่วนเป็นเงิน 50,000 บาท ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นี้เอกสารหมาย จ.7 มีข้อตกลงว่าโจทก์จะให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเพื่อการให้เช่าช่วงเป็นเงิน 700,000 บาท โดยโจทก์ได้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 50,000 บาท จึงฟังได้ว่าเงินจำนวน 50,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 รับจากโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าตอบแทนการที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าช่วง เมื่อมิได้มีการจดทะเบียนการเช่าช่วงกัน จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิอันใดที่จะได้เงินค่าตอบแทนจากโจทก์ ชอบที่จะให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามนัยแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายจำนวน 104,787.85 บาทที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้วคงเหลือเงินที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 เพียง 54,787.85 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้เงิน 54,787.85 บาท แก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share