คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5432/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญา แม้ผู้เสียหายไม่ได้มาเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยก็ตาม แต่ศาลย่อมนำคำเบิกความของผู้เสียหายตอบคำถามโจทก์มาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และรับฟังลงโทษจำเลยได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำความผิดเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมไม่ทำให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่หลุดพ้นความผิด
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีหน้าที่จับผู้กระทำผิดกฎหมายวันเกิดเหตุจำเลยกลั่นแกล้งจับผู้เสียหายแล้วเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อจะได้ปล่อยผู้เสียหายจนผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลย จึงเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังกับกรรโชกผู้เสียหายและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต
โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายโดยใส่กุญแจมือเป็นเหตุให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายแต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงว่า ได้ให้ผู้เสียหายกระทำการใดให้แก่จำเลยกับพวกหรือบุคคลอื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 ทวิ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุมาตราดังกล่าวมาด้วย ก็ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ศาลลงโทษตามบทมาตรา 310 ทวิ นี้
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยต่อผู้เสียหายในแต่ละข้อหารวมกันมาในข้อเดียวกัน แสดงว่า โจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษสำหรับความผิดที่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายในแต่ละข้อหาเพียงกระทงเดียวการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลย รวม 2 กระทง เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157, 310, 310 ทวิ, 337

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 310 ทวิ, 337, รวม 2 กระทง ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 10 ปียกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ด มีหน้าที่จับผู้กระทำผิดกฎหมายวันเกิดเหตุเวลา 9 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 1 จับนายรสหรือรด แซ่ลิ้ม ผู้เสียหายที่ 1ข้อหามีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเวลา19 นาฬิกาเศษ ผู้เสียหายที่ 1 ถูกรถยนต์บรรทุกชนได้รับอันตรายสาหัส โดยจำเลยที่ 1ยังมิได้นำผู้เสียหายที่ 1 ไปมอบให้พนักงานสอบสวน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กลั่นแกล้งจับผู้เสียหายทั้งสอง แล้วเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จับผู้เสียหายที่ 1เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำความผิด จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ไม่ทำให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากระทำความผิดหลุดพ้นความผิดไปด้วย ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 และคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์นำมารับฟังไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีโอกาสถามค้านนั้น เห็นว่าไม่มีกฎหมายห้ามรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว ศาลย่อมนำมาฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นายจิตติเบิกความว่า ขณะอยู่ในซอยโอ่ง ผู้เสียหายทั้งสองไม่ได้ใส่กุญแจมือ แต่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่าผู้เสียหายทั้งสองใส่กุญแจมือแตกต่างกันเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดไม่ทำให้เป็นพิรุธจนไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยที่ 1 กลั่นแกล้งจับผู้เสียหายทั้งสองแล้วเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อจะได้ปล่อยผู้เสียหายทั้งสองจนผู้เสียหายทั้งสองยอมให้เงินแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังกับกรรโชกผู้เสียหายทั้งสองและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดข้อหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยแต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 ทวิ และลงโทษจำเลยที่ 1 รวม 2 กระทงนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังตามฟ้องข้อ ก. มีใจความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสองโดยใส่กุญแจมือเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกาย มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงว่า ได้ให้ผู้เสียหายทั้งสองกระทำการใดให้แก่จำเลยที่ 1 กับพวกหรือบุคคลอื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ทวิ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุมาตราดังกล่าวมาด้วย ก็ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ศาลลงโทษตามบทมาตรานี้ และโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ต่อผู้เสียหายทั้งสองในแต่ละข้อหารวมกันมาในข้อเดียวกัน แสดงว่า โจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษสำหรับความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองในแต่ละข้อหาเพียงกระทงเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ทวิ และลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดรวม 2 กระทงนั้นเป็นการพิพากษาเกินคำขอ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 310 วรรคหนึ่ง, 337 ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กระทงเดียว จำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share