คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเลื่อยจักรโดยสภาพแล้วเป็นสังหาริมทรัพย์มิใช่ทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นโรงเลื่อย อันจะเป็นส่วนควบของโรงเลื่อยและเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องจักรที่เอาประกันภัยไว้ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 การซื้อขายเครื่องจักรจึงสมบูรณ์เมื่อโจทก์กับ น. ได้ตกลงซื้อขายกันกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ขายย่อมโอนไปยัง น. ผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายจะกำหนดให้การซื้อขายจะต้องไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนรับซื้ออีก ก็หาทำให้การซื้อขายเครื่องจักรซึ่งสมบูรณ์แล้วกลับกลายเป็นไม่สมบูรณ์ไม่ เมื่อกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรได้ตกไปเป็นของ น.แล้วตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเอาประกันภัยไว้กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เอาประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมไม่มีผลผูกพันคู่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2530 จำเลยได้ตกลงทำสัญญารับประกันอัคคีภัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโจทก์ไว้เป็นเงิน 1,000,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญา ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2530 ได้เกิดเพลิงไหม้เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโจทก์เสียหายจำนวน 1,200,000 บาทโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,000,000 บาทตามสัญญาแต่ จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2530 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 81,250 บาท รวมเป็นเงิน 1,081,250 บาทขอบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,081,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ขายสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้และเครื่องจักรทั้งหมดที่มีอยู่ในโรงงานของโจทก์ให้แก่นายนำชัย ประสิทธิ์ไพศาล ไปแล้วในราคา 800,000 บาทโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างจำนวน 2,500,000 บาท สต๊อกสินค้าจำนวน 1,500,000 บาท เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ จำนวน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,000,000 บาท ไว้กับบริษัทบัวหลวงประกันภัย จำกัดบริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด และบริษัทจำเลย จำเลยมิได้รับประกันภัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโจทก์ไว้แต่เพียงผู้เดียวดังที่โจทก์กล่าวอ้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายไปเพียงบางส่วนคิดเป็นเงินจำนวน 157,408 บาทแต่ซากทรัพย์สามารถนำไปขายได้คิดเป็นเงินจำนวน 17,174 บาทจึงคงเหลือค่าเสียหายสุทธิเพียง 140,234 บาท และเมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนเงินที่ได้เอาประกันภัยไว้ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องข้อ 10 ให้ถือว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยเองในส่วนที่แตกต่างกันและในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนผู้เอาประกันภัยต้องรับภาระส่วนเฉลี่ยการสูญเสียและการเสียหายไปตามส่วนทุกรายการและเมื่อปรากฏว่าผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเท่าใดแล้วก็ต้องนำมาคำนวณเฉลี่ยความรับผิดร่วมกันระหว่างจำเลยกับบริษัทอื่นอีก 2 รายซึ่งเมื่อเฉลี่ยความรับผิดแล้ว หากจำเลยจะต้องรับผิดก็รับผิดเพียง 22,823 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเลื่อยจักร โดยสภาพแล้วเป็นสังหาริมทรัพย์มิใช่ทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นโรงเลื่อย อันจะเป็นส่วนควบของโรงเลื่อยและเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องจักรที่เอาประกันภัยไว้ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 การซื้อขายเครื่องจักรจึงสมบูรณ์เมื่อโจทก์กับนายนำชัยได้ตกลงซื้อขายกันกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ขายย่อมโอนไปยังนายนำชัยผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย ล.5 จะกำหนดให้การซื้อขายจะต้องไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนรับซื้ออีกก็หาทำให้การซื้อขายเครื่องจักรซึ่งสมบูรณ์แล้วกลับกลายเป็นไม่สมบูรณ์ไม่ เมื่อกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรได้ตกไปเป็นของนายนำชัยแล้วตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเอาประกันภัยไว้กับจำเลยโจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เอาประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมไม่มีผลผูกพันคู่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 863 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share