แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 ลงโทษปรับ 10,000 บาทแม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ลงโทษปรับ 4,000 บาท ก็ตาม ก็คงเป็นการปรับบทกฎหมายที่ใช้ในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคแรก
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่ามีการยอมความกันแล้วโดยไม่วินิจฉัยปัญหาอื่น โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีถือไม่ได้ว่าเป็นการยอม-ความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญาฟ้องไม่ระงับ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยไม่ฎีกา ฉะนั้นปัญหาเรื่องการยอมความจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่แล้ว จำเลยทั้งสองจะหยิบยกปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้นอุทธรณ์อีกหาได้ไม่ เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว และจำเลยทั้งสองหามีสิทธิฎีกาต่อมาอีกไม่
แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกไม่มีมูลหนี้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวเนื่องกับจำเลยที่ 2 ผู้ร่วมออกเช็ค อันเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2กระทำผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงิน ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225