แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 74 มีเจตนารมณ์ให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดด้วย โดยให้ถือว่าร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลเป็นตัวการด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 แต่ความเป็นนิติบุคคลของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากจำเลยที่ 2 ที่มีฐานะเป็นกรรมการ ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด ดังนั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ด้วย แม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์โจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยที่ 2 แต่ก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ภายในอายุความแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทสยามแกลเลอรี่ จำกัด ผู้เสียหาย เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพระสาทิสลักษณ์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (เลขที่ 9022) และภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 5 คู่กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งนายนิรันดร์ไกรสรรัตน์ เป็นผู้วาด ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ชุดสีแดงประทับนั่ง (เลขที่ 9113) ซึ่งนายจารุศักดิ์ วิมุขมนต์ เป็นผู้วาด และภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ชุดขาวประทับยืน (เลขที่ 9260)กับภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ชุดสีน้ำเงินประทับยืน(เลขที่ 9261) ซึ่งนายอภิชัย หริกาญจน์ เป็นผู้วาด โดยนายนิรันดร์ กับนายจารุศักดิ์ตกลงให้ลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพวาดอันเป็นงานประเภทจิตรกรรมของตนดังกล่าวตกเป็นของผู้เสียหาย ส่วนนายอภิชัยได้วาดภาพดังกล่าวขึ้นโดยผู้เสียหายเป็นผู้ว่าจ้างผู้เสียหายจึงมีสิทธิสมบูรณ์ในการนำเอางานศิลปกรรมภาพวาดดังกล่าวไปทำประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แต่เพียงผู้เดียวในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ และงานสร้างสรรค์ดังกล่าวมีการโฆษณาครั้งแรกในประเทศไทยแล้ว ต่อมาผู้เสียหายได้นำภาพวาดทั้งห้าภาพดังกล่าวเป็นต้นฉบับทำซ้ำโดยถ่ายภาพลงบนแผ่นฟิล์มแล้วไปทำการพิมพ์โดยผ่านกรรมวิธีการพิมพ์ภาพออกมาเป็นงานศิลปประเภทงานภาพพิมพ์เป็นรูปพิมพ์ภาพวาดที่สีภาพคมชัดทั้งลายเส้น สี แสง และรายละเอียดต่าง ๆ เหมือนกับภาพวาดต้นฉบับทั้งห้าภาพดังกล่าวผู้เสียหายจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในรูปพิมพ์ภาพวาดดังกล่าวและมีการโฆษณาครั้งแรกในประเทศไทยแล้ว เมื่อระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2539 ถึงวันที่19 ธันวาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและงานภาพพิมพ์รูปภาพดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองทำซ้ำโดยการคัดลอก เลียนแบบ ทำสำเนา บันทึกภาพจากสำเนาภาพวาดหรือจากรูปพิมพ์ภาพวาดดังกล่าวของผู้เสียหาย แล้วนำไปผ่านกระบวนการพิมพ์ออกมาเป็นรูปพิมพ์ภาพวาดที่มีลักษณะเหมือนกับงานศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและงานภาพพิมพ์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในส่วน อันเป็นสาระสำคัญทั้งหมด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆตามกฎหมายและได้กระทำไปเพื่อการค้าโดยนำเอารูปพิมพ์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวออกจำหน่ายด้วยการเสนอขายแก่บุคคลทั่วไปโดยรู้แล้วว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบรูปพิมพ์ภาพวาดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยทำเป็นการ์ด ส.ค.ส. (บัตรอวยพรปีใหม่) และกรอบรูปวิทยาศาสตร์ซึ่งมีรูปพิมพ์ภาพวาดดังกล่าว ตามรายการในบัญชีของกลางที่แนบมาท้ายฟ้องลำดับที่ 1 ถึงที่ 9 และกรอบรูปกับรูปภาพพิมพ์อันเป็นงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย บัญชีรายชื่อลูกค้า แฟ้มเอกสารเกี่ยวกับใบรับของ ใบวางบิลและใบลดหนี้ของจำเลยทั้งสอง ตามรายการในบัญชีของกลางคดีอาญา ลำดับที่ 1ถึงที่ 13 อยู่ในอาคารสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 จึงยึดไว้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 10, 17, 27, 31, 69, 70, 74, 75และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีคำสั่งให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามบัญชีของกลางคดีอาญาที่แนวมาท้ายฟ้องลำดับที่ 1 ถึงที่ 9 ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กับให้จ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทสยามแกลเลอรี่ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 27(1) และ 69 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับจำเลยทั้งสองคนละ 200,000บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงสถานะอายุ และอาชีพแล้วเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนเป็นระยะเวลา 2 ปี ให้ของกลางรายการลำดับที่ 1 ถึงที่ 3ลำดับที่ 6 และลำดับที่ 8 ตามบัญชีของกลางคดีอาญาที่แนบมาท้ายคำฟ้องตกเป็นของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้จ่ายแก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์ของโจทก์ร่วมโดยทำซ้ำเพื่อการค้าตามฟ้องแต่โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดคดีโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยประการเดียวตามที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า ขณะที่โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายวิทูร เฮงไชยศรี ไปร้องทุกข์คดีนี้นั้น โจทก์ร่วมทราบชื่อจำเลยที่ 1เท่านั้นยังไม่ทราบชื่อจำเลยที่ 2 ประกอบกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 74 ก็บัญญัติว่า “ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย” ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมเพียงแต่ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในหนังสือมอบอำนาจก็มิได้หมายถึงการจำกัดขอบอำนาจให้ดำเนินคดีแต่เพียงจำเลยที่ 1 เท่านั้น หากหมายถึงกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 ด้วย เพราะเมื่อตีความตามเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าต้องการให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการของนิติบุคคลที่ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องทราบว่าขณะกระทำผิดกรรมการของนิติบุคคลคือผู้ใด ผิดกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั่ว ๆ ไป ที่จะต้องทราบให้แน่ชัดว่าบุคคลใดได้กระทำผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ภายในอายุความ คดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความแล้วเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติ มาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ต้องการให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย โดยให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลดังกล่าวโดยเป็นตัวการด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นเจตนารมณ์ที่แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั่ว ๆ ไป ดังเช่นที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่ความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากความเป็นบุคคลของจำเลยที่ 2 ที่มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเท่านั้น ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะบัญญัติให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตามแต่การที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำผิดดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เมื่อโจทก์ร่วมมีหนังสือมอบอำนาจให้นายวิทูร เฮงไชยศรีไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1เท่านั้น ตามเอกสารหมาย จ.13 กรณีจึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้รับผิดในฐานะที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยแม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์ดังกล่าวโจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยที่ 2 นี้ แต่โจทก์ร่วมก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามไว้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ภายในอายุความแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน