คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงในคดีอาญาซึ่งมูลกรณีเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดได้วินิจฉัยไว้ว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เบียดบังเอาทรัพย์ตามฟ้องไป ดังนั้นย่อมเห็นได้ว่าคำพิพากษาคดีส่วนอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เบียดบังหรือยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไป ฉะนั้นในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติไว้กรณีหาจำต้องคำนึงถึงว่า คำพิพากษาคดีส่วนอาญาศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้วหรือไม่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้มีเอกสารรายงานให้กรมตำรวจโจทก์ทราบถึงการละเมิดและตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วว่าคือจำเลยทั้งสาม เอกสารดังกล่าวส่งถึงกรมตำรวจเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2529 แม้ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้เสนอให้อธิบดีกรมตำรวจทราบเมื่อใด แต่พลตำรวจโท ป. ผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 1ทางวินัยเกี่ยวกับการละเมิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2529เนื่องจากผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจได้รับรายงานข้อเท็จจริงเอกสารจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วตั้งแต่วันที่ 16ธันวาคม 2529 เป็นอย่างช้า เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดในวันที่ 2 พฤษภาคม 2531 พ้น 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบในการเก็บรักษาและเบิกจ่ายอาวุธต่าง ๆ ของโจทก์ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในคลังอาวุธของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 2 ได้ยักยอกอาวุธปืนพกออโตเมติก ขนาด 11 มม. จำนวน 35 กระบอกราคากระบอกละ 8,000 บาท เป็นเงิน 280,000 บาท อาวุธปืนพกออโตเมติกขนาด 9 มม.จำนวน 1 กระบอก ราคา 4,000 บาท และซองกระสุนปืนขนาด 11 มม. จำนวน 12 ซอง ราคาซองละ 65 บาทเป็นเงิน 780 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 284,780 บาท ของโจทก์ไปจำเลยที่ 2 รับราชการประจำกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 2ตำแหน่งเจ้าหน้าที่คลังอาวุธ มีหน้าที่รับผิดชอบในการรับจ่ายอาวุธปืน กระสุนปืนและวัตถุระเบิดของหมวดสรรพาวุธ โดยทำบัญชีคุมในการเบิกจ่าย ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบควบคุมบัญชีในการรับและเบิกจ่ายอาวุธปืนให้ตรงกันในระหว่างวันเวลาดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยักยอกอาวุธปืนดังกล่าวไป จำเลยที่ 3 รับราชการประจำกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 2 ตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ 9 มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเวรยามรักษาความปลอดภัยที่อาคารคลังสรรพาวุธในกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 2 ได้จงใจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าเวรยามบริเวณห้องคลังสรรพาวุธเลิกการอยู่เวรยามตามวันเวลาดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยักยอกอาวุธปืนดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิด เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์รู้ถึงการละเมิดและผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2530ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาทรัพย์สินเป็นเงิน284,780 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยักยอกอาวุธปืนและซองกระสุนปืนของโจทก์ พนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีเคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 กับมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 284,780 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าของ ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโดยฟังว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้เบียดบังทรัพย์ตามฟ้องไปเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตทั้งไม่ได้ทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และหาได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด คดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1037/2529 ของศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงคดีนี้จึงยุติตามคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยักยอกทรัพย์ตามฟ้องไป ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาดังกล่าว โจทก์ทราบเหตุตามฟ้องเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า หลังจากทรัพย์ของโจทก์หายไป โจทก์ได้ตั้งกรรมการสอบสวน ผลการสอบสวนฟังได้ว่าสาเหตุที่ทรัพย์ของโจทก์หายไปเกิดจากความประมาทและความบกพร่องของจำเลยทั้งสาม วันที่ 16 กันยายน 2529 พลตำรวจโทประวิทย์ วงศ์วิเศษผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์จึงตั้งกรรมการพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันมีคำสั่งตั้งกรรมการพิจารณาทัณฑ์ทางวินัย โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าวันที่ 26มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 3 ถูกตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง ถือว่าโจทก์รู้ถึงวันทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดแล้ว คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1037/2529 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี โจทก์ร้อยตำรวจเอกนพมิตร สุทธิกร จำเลย ศาลชั้นต้นเพียงแต่วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ดังนั้นการพิพากษาคดีแพ่งศาลจึงถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวไม่ได้ยังต้องฟังพยานโจทก์ในคดีนี้ต่อไปเพื่อให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา”ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1037/2529 ซึ่งมูลกรณีเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์นั้น ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เบียดบังเอาทรัพย์ตามฟ้องไป ดังนั้นย่อมเห็นได้ว่า คำพิพากษาคดีส่วนอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบียดบังหรือยักยอกทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์ไป ฉะนั้นในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้ ศาลจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46บัญญัติไว้ กรณีหาจำต้องคำนึงถึงว่า คำพิพากษาคดีส่วนอาญาศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้วหรือไม่ตามที่โจทก์อ้างในฎีกา เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีถึงกรมตำรวจนั้นได้รายงานให้ทราบถึงการละเมิดและตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วว่าคือจำเลยทั้งสามเอกสารดังกล่าวส่งถึงกรมตำรวจเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2529แม้ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้เสนอเอกสารฉบับดังกล่าวให้อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจทราบเมื่อวันเดือนปีใด แต่เจ้าหน้าที่ผู้ลงรับเอกสารฉบับดังกล่าวไว้ก็หาอาจกักเอกสารไว้ไม่รีบนำเสนอต่ออธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจได้ไม่ พลตำรวจโทวสิษฐ เดชกุญชรผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 1 ทางวินัยเกี่ยวกับการละเมิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2529 ย่อมเห็นได้ว่า คำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 1 ทางวินัยนี้เนื่องจากผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจได้รับรายงานข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.1 จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนนั่นเอง จึงฟังได้ว่ากรมตำรวจได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม2529 เป็นอย่างช้า เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดในวันที่ 2 พฤษภาคม 2531 พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share