แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการโอนเงินจำนวนหนึ่งจากธนาคารในเมืองฮ่องกงมาเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ธนาคารผู้คัดค้านถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอย่างอื่นในเบื้องต้นต้องฟังว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของจำเลยผู้เป็นเจ้าของบัญชี เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวมิใช่เป็นของจำเลยแต่เป็นของผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยส่งมาชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านแทนจำเลยผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้ฟังได้ตามข้ออ้างของตน ผู้คัดค้านส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารเป็นพยานโดยมิได้แสดงให้เห็นว่าต้นฉบับหาไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น และโจทก์ไม่ได้ตกลงด้วยว่าสำเนาภาพถ่ายเอกสารนั้นถูกต้อง สำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำพวกบริษัทจำกัด และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เป็นเงิน 12,184,014.57 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ต่อมามีการโอนเงินจากฮ่องกงมายังธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขากรุงเทพมหานครเป็นเงิน 23,804,131.86 บาท วันที่ 28 ธันวาคม 2525 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 0185953 ของจำเลยที่ 1ที่ธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขากรุงเทพมหานคร เป็นเงิน13,000,000 บาท ธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขากรุงเทพมหานครไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของศาลอ้างว่าเงินในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวไม่มีและบัญชีปิดแล้วตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2525โจทก์ยื่นคำร้องว่า เหตุที่บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 0185953 ของจำเลยที่ 1 ในธนาคารชาร์เตอร์ด สาขากรุงเทพมหานครไม่มีเงิน เพราะธนาคารดังกล่าวหักบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องเนื่องจากหนี้ที่นำมาหักที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระกล่าวคือ หนี้ที่นำมาหักเป็นหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัดสาขากรุงเทพมหานคร ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลแพ่งในคดีดังกล่าวศาลแพ่งพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระเงินงวดแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2525 ส่วนที่เหลือชำระภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2526 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 ได้มีการโอนเงินจากฮ่องกงมาเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1เป็นเงิน 19,539,650.44 บาท ในวันนั้นธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัดสาขากรุงเทพมหานคร ถือโอกาสนำเงินที่โอนเข้ามาหักใช้หนี้จนบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ธนาคารชาร์เตอร์ดจำกัด สาขากรุงเทพมหานคร ได้รับคำสั่งอายัดของศาลเมื่อวันที่30 ธันวาคม 2525 ก่อนหนี้งวดที่ 1 ของจำเลยที่ 1 จะถึงกำหนดชำระขอให้ธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขากรุงเทพมหานคร ส่งเงินของจำเลยที่ 1 มายังศาลเป็นเงิน 13,000,000 บาท ตามคำสั่งอายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ให้โจทก์ ธนาคารชาร์เตอร์ดจำกัด สาขากรุงเทพมหานครยื่นคำคัดค้านว่า เงินที่ส่งมาเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นเงินของนาย ที.ซี.เช็ง ผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลย มิใช่เงินของจำเลยทั้งสอง เมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้ ผู้คัดค้านก็รับชำระหนี้ไว้ เมื่อรับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงแล้วผู้คัดค้านก็ปิดบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่มีกฎหมายห้ามชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดผู้ค้ำประกันย่อมมีสิทธิที่จะชำระหนี้ที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระเพื่อลดความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยได้โดยชอบด้วยกฎหมายบัญชีของจำเลยทั้งสองในธนาคารผู้คัดค้านปิดตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2525 ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของโจทก์โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 มีบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 0185953 อยู่ในธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขากรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้าน โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้และหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยที่ 1 ในคดีอื่นซึ่งจะถึงกำหนดชำระงวดแรกในวันที่ 31 ธันวาคม 2525 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 มีการส่งเงินจากฮ่องกง 23,804,131.86 บาทผู้คัดค้านนำเข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 0185953 ของจำเลยที่ 1เป็นเงิน 19,539,650.44 บาท อ้างว่าเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว และผู้คัดค้านปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 0185953 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2525 เงินที่เหลือผู้คัดค้านนำเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 2 และของบริษัทอื่นในเครือของจำเลยที่ 1 อีก 2 บริษัทและได้ปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวทุกบัญชี โจทก์ขอให้ศาลออกคำสั่งอายัดเงินในบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 0185953 เป็นเงิน 15,000,000 บาท เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2525 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีดังกล่าว13,000,000 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขออายัดเงินในบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 0185953 หรือไม่เห็นว่าเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 มีการนำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยที่ 1 ในธนาคารผู้คัดค้านเป็นเงิน19,539,650.44 บาท ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอย่างอื่นในเบื้องต้นต้องฟังว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของบัญชี เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเงินของนายที.ซี.เช็งผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ส่งมาชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้ฟังได้ตามข้ออ้างของตน ผู้คัดค้านอ้างอิงสำเนาภาพถ่ายเอกสารที่นำสืบว่าเป็นใบโทรพิมพ์ที่ผู้คัดค้านได้รับจากธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัดสาขาฮ่องกงและสาขาสิงคโปร์ เป็นพยานรวม 5 ฉบับ คือสำเนาภาพถ่ายเอกสารลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 เอกสารหมาย ค.1สำเนาภาพถ่ายเอกสารลงวันที่ 10 สิงหาคม 2525 เอกสารหมาย ค.4สำเนาภาพถ่ายเอกสารลงวันที่ 16 สิงหาคม 2525 เอกสารหมาย ค.5สำเนาภาพถ่ายเอกสารลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 เอกสารหมาย ค.6สำเนาภาพถ่ายเอกสารลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2525 เอกสารหมาย ค.7 และสำเนาภาพถ่ายลงวันที่ 12 มกราคม 2526 เอกสารหมาย ค.8 ทุกฉบับนายวิเศษ จันทโรจวงศ์ ทนายผู้คัดค้านลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้อง โจทก์ไม่ได้ตกลงด้วยว่าสำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวถูกต้อง ทั้งยังนำสืบว่าสำเนาภาพถ่ายดังกล่าวมิได้ถ่ายจากใบโทรพิมพ์ เพราะใบโทรพิมพ์ที่แท้จริงจะต้องเป็นดังที่เอกสารที่โจทก์ส่งเป็นตัวอย่างคือเอกสารหมาย จ.5/1 ซึ่งมีลักษณะไม่เหมือนกับเอกสารหมาย ค.1 กับ ค.4 ถึง ค.8 ทั้งผู้คัดค้านส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวเป็นพยานโดยมิได้แสดงให้เห็นว่าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น ดังนั้น สำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 นอกจากสำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวจะรับฟังไม่ได้แล้ว ยังทำให้พยานหลักฐานของผู้คัดค้านเป็นพิรุธกล่าวคือ เมื่อโจทก์ขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกใบโทรพิมพ์ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 ที่ธนาคารชาร์เตอร์ดจำกัด สาขาฮ่องกง ส่งมายังผู้คัดค้านเรื่องโอนเงิน 23,000,000บาทเศษมาเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 2 และของบริษัทคอมพาสทัวร์ จำกัด ผู้คัดค้านก็มิได้ส่งต้นฉบับใบโทรพิมพ์ดังที่ระบุไว้ในคำสั่งต่อศาล กลับส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารลงวันที่ 10สิงหาคม 2525 ที่มีข้อความว่าธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขาสิงคโปร์ ส่งมายังผู้คัดค้านซึ่งตรงกับสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ค.4สำเนาภาพถ่ายเอกสารลงวันที่ 16 สิงหาคม 2525 ที่มีข้อความว่าธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขากรุงเทพมหานครถึงธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขาสิงคโปร์ ซึ่งตรงกับสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ค.5 และสำเนาภาพถ่ายเอกสารลงวันที่ 5พฤศจิกายน 2525 ที่มีข้อความว่าธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขาฮ่องกง ส่งมายังผู้คัดค้านซึ่งตรงกับสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ค.1มายังศาล ซึ่งโจทก์ก็คัดค้านว่าเอกสารที่ผู้คัดค้านส่งมามิใช่เอกสารที่โจทก์ต้องการ สำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวที่ผู้คัดค้านส่งศาลตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ได้ส่งมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2527ทุกฉบับประทับตราลงรับเอกสารด้วยหมึกพิมพ์สีน้ำเงิน และพนักงานผู้รับลงลายมือชื่อด้วยหมึกแดง ศาลฎีกาเห็นว่า การประทับตราลงรับเอกสารและลงลายมือชื่อรับเอกสารของหน่วยงานน่าจะประทับตราลงรับและลงลายมือชื่อรับไว้ในต้นฉบับเอกสารที่หน่วยงานนั้นเก็บรักษาไว้ ไม่น่าจะประทับตราลงรับและลงลายมือชื่อรับในสำเนาภาพถ่ายที่จะส่งให้บุคคลภายนอก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ค.4 และ ค.5 ที่ผู้คัดค้านส่งศาลเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2527ซึ่งเป็นวันสืบพยานบุคคลของผู้คัดค้าน ไม่ปรากฏว่ามีตราประทับลงรับเอกสารเลย ผิดกับสำเนาภาพถ่ายที่ส่งศาลเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2527นอกจากพยานเอกสารดังกล่าวแล้ว พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่จะพิสูจน์ว่าข้ออ้างของตนเป็นความจริงก็คือคำเบิกความของพยานบุคคลซึ่งมีอยู่ 2 คน คือ นายวิเศษทนายผู้คัดค้าน และนายดิเรก หาญวนิชย์ผู้จัดการแผนกบัญชีของธนาคารผู้คัดค้านซึ่งรับมอบอำนาจให้ร้องคัดค้านคดีนี้ นายวิเศษเบิกความว่าได้รับมอบหมายจากผู้คัดค้านให้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 บริษัทคอมพาสทัวร์ จำกัดและบริษัทวัฒนาแมชีนเนอรี่ จำกัด เรียกร้องหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันรวม 4 คดี นายที.ซี.เช็ง เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ทั้งสี่ราย เมื่อนายวิเศษยื่นฟ้องแล้ว 3 ราย เป็น 3 คดีเว้นแต่บริษัทวัฒนาแมชีนเนอรี่ จำกัด ยังไม่ได้ฟ้องเนื่องจากนายที.ซี.เช็ง ซึ่งอยู่ที่สิงคโปร์เดินทางเข้ามาติดต่อขอลดหนี้ทั้งสี่ราย ธนาคารชาร์เตอร์ด สำนักงานใหญ่ ตกลงลดหนี้ทั้งสี่รายเหลือ 23,000,000 บาท และยอมให้ปลดจำนองที่ทำไว้ที่สิงคโปร์ด้วย นายที.ซี.เช็งซึ่งมีกิจการค้าที่ฮ่องกงด้วยได้ส่งเงินมาจากฮ่องกงเพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินเหรียญฮ่องกงเงินเหรียญสิงคโปร์ กับเงินบาทไทยนั้น ถ้าส่งเป็นเงินเหรียญฮ่องกงจะได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า แต่การติดต่อได้ติดต่อผ่านธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขาสิงคโปร์ นอกจากนายที.ซี.เช็ง จะทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ทั้งสี่รายแล้ว ภริยานายที.ซี.เช็ง ยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน 3 แปลงที่สิงคโปร์เป็นประกันการชำระหนี้ด้วย โดยหลังจากฟ้องคดีแล้วนายวิเศษเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจำนองนายดิเรกเบิกความว่า ทราบจากทนายความว่ามีหนังสือค้ำประกันผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเพราะเงินที่ส่งมาเข้าบัญชีเป็นเงินของผู้ค้ำประกันเพื่อชำระหนี้แทนลูกหนี้ คำเบิกความของนายดิเรกดังกล่าวแสดงว่านายดิเรกซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีของธนาคารผู้คัดค้าน และเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ร้องคัดค้านไม่เคยเห็นหรือทราบจากทางอื่นว่ามีหนังสือสัญญาค้ำประกันที่นายที.ซี.เช็งทำไว้ เพราะเบิกความว่าทราบจากทนายความซึ่งหมายถึงนายวิเศษว่ามีหนังสือค้ำประกันเท่านั้น คำเบิกความของบุคคลทั้งสองจึงเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ ผู้คัดค้านมิได้ส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันที่อ้างว่า นายที.ซี.เช็ง ทำไว้ และมิได้ส่งหนังสือสัญญาจำนองที่อ้างว่าภริยานายที.ซี.เช็ง จำนองที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นประกันหนี้ของลูกหนี้สี่รายดังที่ผู้คัดค้านนำสืบต่อศาล มิได้นำนายที.ซี.เช็งมาเบิกความทั้งที่ปรากฏตามบัญชีระบุพยานของผู้คัดค้านว่านายที.ซี.เช็งอยู่ที่บ้านเลขที่ 11-12 ถนนธนิยะแขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานครทั้งมิได้มีใบโทรพิมพ์ที่นายที.ซี.เช็งเป็นผู้ส่งหรือเอกสารใด ๆ ที่นายที.ซี.เช็งทำขึ้นเกี่ยวกับเงินจำนวน 19,539,650.44 บาท ที่เข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 0185953 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 มาแสดงต่อศาลเลยพยานหลักฐานของผู้คัดค้านเกี่ยวกับเรื่องนี้มีแต่สำเนาภาพถ่ายเอกสารที่มีข้อความว่าธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขาฮ่องกงส่งมาบ้าง ธนาคารชาร์เตอร์ด จำกัด สาขาสิงคโปร์ ส่งมาบ้างกับคำเบิกความของนายวิเศษและคำเบิกความของนายดิเรกดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่พอฟังว่านายที.ซี.เช็ง ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารชาร์เตอร์ด และเงิน 19,539,650.44 บาท เป็นเงินของนายที.ซี.เช็งที่ส่งมาชำระหนี้ให้ผู้คัดค้านแทนจำเลยที่ 1 หนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้คัดค้านก็ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว จึงมีสิทธิขอให้ศาลสั่งอายัดเงินในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเลขที่ 0185953 ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นสั่งเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2525