คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5408/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าในสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (ตรงกับมาตรา 193/30 ปัจจุบัน) หลังจากครบกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายในวันที่ 17 ตุลาคม 2527 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทยอยส่งมอบสิ่งของแก่โจทก์อีกแสดงว่าโจทก์พยายามให้โอกาสจำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแก่โจทก์โดยไม่บอกเลิกสัญญา จนครั้งสุดท้ายโจทก์แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า ให้โอกาสส่งมอบสิ่งของจนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2528 ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอผัดผ่อนต่อไปอีกจนถึงวันที่ 25 กันยายน 2528 ฉะนั้นการที่โจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ภายหลังครบกำหนดส่งมอบของตามสัญญาซื้อขายเป็นเวลานานนับปีนั้นจึงไม่มีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหายจำนวน2,360,735.61 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายจำเลย 269,098.15 บาท หากจำเลยที่ 2 ชำระแล้วให้เอาส่วนที่จำเลยที่ 2 ชำระแล้วหักออกจากส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดต่อโจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิปรับหรือริบเงินที่วางประกันไว้ และตามสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีเมื่อครบกำหนด แต่โจทก์ปล่อยเวลาถึง 420 วัน จึงบอกเลิกสัญญาแสดงว่าโจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยางแอสฟัลต์ และโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเอง เพราะไม่ได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันควร และการที่โจทก์ปล่อยเวลาถึง 600 วันจึงซื้อยางแอสฟัลต์ใหม่ในขณะที่มีราคาสูงเป็นความผิดของโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบราคาที่เพิ่มขึ้นและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นเวลากว่า 2 ปี นับแต่บอกเลิกสัญญาคดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อกำหนดว่าการผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1นั้น จำเลยที่ 2 จะยินยอมก็ต่อเมื่อโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2ทราบโดยไม่ชักช้า แต่โจทก์ได้ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาค้ำประกัน ภาระการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 หมดสิ้นไป จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน1,712,350.50 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวไม่เกิน 220,789.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันผิดนัด(วันที่ 17 มกราคม 2530) จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 48,116 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าฟ้องโจทก์มีอายุความเพียง 2 ปีนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายหรือวันครบกำหนดที่จะต้องส่งมอบสินค้าฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องอันต้องด้วยกรณีหนึ่งกรณีใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ถึง (17) เดิมซึ่งมีอายุความ 2 ปีแต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าในสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ10 ปี นับแต่เวลาที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายว่าการที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ภายหลังครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายเป็นเวลานานนับปีนั้นเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งฟังได้ว่า หลังจากครบกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ในวันที่ 17ตุลาคม 2527 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทยอยส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแก่โจทก์รวม 12 รายการ แสดงว่าโจทก์พยายามให้โอกาสจำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแก่โจทก์โดยไม่บอกเลิกสัญญาจนครั้งสุดท้ายโจทก์แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า ให้โอกาสส่งมอบสิ่งของตามสัญญาจนถึงวันที่ 28มิถุนายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอผัดผ่อนต่อไปอีกจนถึงวันที่ 25 กันยายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.13ดังนั้นการที่โจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ภายหลังครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายเป็นเวลานานนับปีนั้น ไม่มีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 88,116 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 บาท ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายจำนวน 1,712,350.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 17 มกราคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนในวงเงิน 88,116 บาทพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share