คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5401/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม ระบุเพียงว่า ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม (1) หรือ (2) หากได้มีการจำหน่ายเผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการจำหน่าย เผยแพร่ และโฆษณามาตั้งแต่ปี 2543 แสดงว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้สาธารณชนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “LOCKTECH” ในรูปรถยนต์ประดิษฐ์ โดยได้รับโอนเครื่องหมายการค้าและสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากนายธีรชัย ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 6 รายการสินค้า ที่ล๊อกกันขโมยทำด้วยโลหะ เมื่อประกาศโฆษณาคำขอ นายวิสิฐ ยื่นคำคัดค้าน นายธีรชัยยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยกคำคัดค้าน นายวิสิฐอุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้นายธีระชัยชี้แจงในประเด็นที่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่มีลักษณบ่งเฉพาะ และต่อมาได้มีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงไม่อาจรับจดทะเบียนได้ โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะวินิจฉัยเกินอำนาจตามกฎหมาย เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่ได้เล็งถึงลักษณหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงโจทก์ได้จำหน่าย เผยแพร่ และโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าจนเป็นที่แพร่หลายทั่วไป ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 171/2549 ที่สั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 466687 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามขั้นตอนการจดทะเบียนต่อไป
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว อักษรโรมันคำว่า “LOCKTECH” เป็นคำที่มีความหมายตามพจนานุกรมว่า เทคโนโลยีเกี่ยวกับการล๊อกเครื่องมือที่ใช้ปิด เมื่อใช้กับสินค้าที่ขอจดทะเบียนนับว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง รูปรถยนต์ก็เป็นรูปที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโดยตรงเช่นกัน เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่มีลักษณบ่งเฉพาะตามกฎหมายผู้ที่ใช้และจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ใช่นายธีรชัย ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน จึงรับฟังไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการที่ 171/2549 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 466687 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “LOCKTECH” ในรูปรถยนต์ประดิษฐ์ โดยได้รับโอนเครื่องหมายการค้าและสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากนายธีรชัย ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเลขที่ 466687 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 6 รายการสินค้า ที่ล๊อกกันขโมยทำด้วยโลหะ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มีการประกาศโฆษณาคำขอแล้ว แต่นายวิสิฐ ยื่นคำคัดค้านปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 นายธีรชัยยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยกคำคัดค้าน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 นายวิสิฐอุทธรณ์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะและไม่รับจดทะเบียน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้ามีว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ คดีรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งคู่ความไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีเพียงว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสามหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์โต้แย้งว่า หลักฐานการใช้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์นำสืบมานั้น ไม่ใช่การใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าโดยโจทก์ แต่เป็นการใช้โดยบุคคลอื่น กรณีจึงไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 สำหรับปัญหานี้ โจทก์มีตัวโจทก์ นายสมชาย และนายอภินันท์ มาเบิกความเป็นพยานประกอบเอกสารต่าง ๆ ในทำนองว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ส่วนจำเลยทั้งเก้ามีนายกนก มาเบิกความคัดค้าน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสามระบุเพียงว่า ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม (1) หรือ (2) หากได้มีการจำหน่ายเผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ ในการพิจารณาความแพร่หลายดังกล่าว กฎหมายไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ใช้เครื่องหมายการค้าแต่อย่างใดทั้งประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่ใช้เครื่องหมายการค้าตามที่จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ด้วย เมื่อโจทก์มีใบกำกับสินค้า ใบกำกับภาษี บัญชีรายงานภาษีการขาย และนิตยสารเกี่ยวกับรถยนต์เอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 มานำสืบให้รับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการจำหน่าย เผยแพร่ และโฆษณามาตั้งปี 2543 โดยมีนายสมชายและนายอภินันท์ พยานโจทก์ซึ่งประกอบกิจการค้าขายอุปกรณ์ล๊อกเบรกและคลัชรถยนต์เบิกความยืนยันว่า พยานทั้งสองรู้จักเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และลูกค้าที่มาขอซื้อจะเรียกสินค้าของโจทก์ว่า ล๊อกเทค อันแสดงว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมีการจำหน่าย เผยแพร่หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้สาธารณชนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น ส่วนจำเลยทั้งเก้าไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share