คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พ.ศ. 2482 มาตรา 11 ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนดเขตการชลประทานส่วนราษฎรได้ แต่อำนาจสั่งเปลี่ยนประเภทการชลประทานส่วนบุคคลเป็นการชลประทานส่วนราษฎรจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 วรรคสอง
โจทก์ได้รับโอนสิทธิในเหมืองฝาย ซึ่งเป็นการชลประทานส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี จากมารดา แม้ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 กำหนดเขตการชลประทานส่วนราษฎร มีตำบลของเหมืองฝายของโจทก์รวมอยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการสั่งเปลี่ยนแปลงประเภทการชลประทานส่วนบุคคลของโจทก์เป็นการชลประทานส่วนราษฎรเมื่อจำเลยถมเหมืองแล้วปลูกข้าวบนดินที่ถม โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ 362

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเหมืองฝายส่วนบุคคลห้วยอังคารอยู่ที่ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยเป็นเจ้าของนาซึ่งอยู่สองข้างทางเหมืองฝายของโจทก์ ได้บุกรุกและปิดกั้นทำลายเหมืองฝายของโจทก์ โดยถมดินในเหมืองฝาย แล้วทำนาปลูกข้าว ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๖๒
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิด เหมืองฝายที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นส่วนรวมของประชาชนช่วยกันสร้าง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้องให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเหมืองฝายห้วยอังคาร ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นการชลประทานส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปีจากนางกัณหามารดาโจทก์ ตามหนังสือโอนสิทธิเหมืองฝายหมาย จ.๑ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๘๒ กำหนดเขตการชลประทานส่วนราษฎร ซึ่งมีตำบลบ้านโคกนี้รวมอยู่ด้วย จำเลยได้เอาดินถมลำเหมืองห้วยอังคารของโจทก์แล้วปลูกข้าวบนดินที่ถมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๑ ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนดเขตการชลประทานส่วนราษฎรได้ แต่อำนาจสั่งเปลี่ยนประเภทของการชลประทานส่วนบุคคลดังเช่นของโจทก์ เป็นการชลประทานส่วนราษฎรจะต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรค ๒ แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าได้มีการสั่งเปลี่ยนแปลงประเภทการชลประทานส่วนบุคคลของโจทก์เป็นการชลประทานส่วนราษฎรแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share