แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ คดีถึงที่สุด โดยศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพคิดเป็นจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ คดีนี้กรมป่าไม้ซึ่งเป็นผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลมาจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 จะฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ หาได้ไม่ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2541 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2543 จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินด้วยการแผ้วถางป่า ก่อนสร้างและปลูกสร้างอาคารบริการขายอาหาร 1 หลัง อาคารห้องน้ำ 1 หลัง อาคารศาลาที่พักรูปหกเลี่ยม 5 หลัง อาคารที่พัก 4 หลัง อาคารที่พักยังไม่ได้มุงหลังคา 2 หลัง และแท็งก์น้ำแบบติดตั้งกับพื้น 1 ใบ เพื่อประกอบกิจการให้บริการสถานที่พักตากอากาศชื่อ “ภูผาหมอกหรือเมืองในหมอก” ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่และป่าเขาสะโตน อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นการทำลายป่า ทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพคิดเป็นจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ โจทก์ประเมินความเสียหายเป็นค่าดินสูญหายไร่ละ 1,800 บาท ปุ๋ยสูญหายไร่ละ 4,064.15 บาท น้ำสูญหายไร่ละ 58,800 บาท อากาศร้อนกว่าปกติไร่ละ 45,453.45 บาท เนื้อไม้และของป่าสูญหายไร่ละ 40,825.10 บาท รวมเป็นเงิน 150,942.70 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียงไร่ละ 150,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 2,250,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 253,125 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย จำนวน 2,503,125 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,250,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้บุกรุกเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ จำเลยที่ 1 ครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวตามเอกสารสิทธิ ภบท. 5 ซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้ทำลายป่าทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพ จำเลยที่ 1 พัฒนาบริเวณที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้าและรักษาสภาพป่าไม้ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จำเลยที่ 1 สร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างบริเวณที่โล่งว่างโดยไม่ได้แผ้วถางป่าและก่อนสร้างแต่อย่างใดโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องเพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่พื้นที่ต้นน้ำลำธารจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขการประเมินความเสียหาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจำนวนเนื้อที่เท่าใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ นั้น เห็นว่า พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นแล้ว โดยศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่และป่าเขาสะโตน อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพคิดเป็นจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 110/2544 ของศาลชั้นต้น คดีนี้เมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลมาจากการกระทำความผิดอาญา จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยที่ 1 จะฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ นั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ ไร่ละ 80,000 บาท เป็นจำนวนเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ