คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 622/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 นั้น ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลจะต้องชัดแจ้งเพื่อแสดงว่าตนอาจชนะคดีได้อย่างไรบ้าง มิใช่กล่าวแต่เพียงว่าสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่เกินสามแสนบาทเท่านั้นโดยไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิงที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่าหากพิจารณาใหม่แล้ว ศาลอาจพิพากษาให้ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ได้พิพาทไปแล้ว

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 49,049.11 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเพื่อไถ่ถอนจำนองจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตบาดนำเงินชำระหนี้ ถ้าได้เงินจากขายทอดตลาดไม่พอขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระจนครบ

จำเลยทั้งสองให้การสู้คดี

วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์มาศาลฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาลจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้โจทก์ทำการสืบพยานไปเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ศาลเห็นว่าตามคำให้การจำเลยไม่มีประเด็นที่จะสืบ จึงให้ถือว่าเป็นอันเสร็จการพิจารณาและพิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 476,757.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี (ไม่ทบต้น) นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2511 เป็นต้นมา จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ถือว่าเป็นการบังคับจำนองในวงเงิน 240,000 บาท ซึ่งถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์ และถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระจนครบได้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์เป็นจำนวน 400,000บาทด้วย

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า มิได้จงใจขาดนัดพิจารณา เหตุที่มิได้ไปศาลในวันแรกสืบพยานเพราะจำเลยที่ 1 ป่วย และจำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่เกินสามแสนบาทเท่านั้น

ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ว่า คำร้องมิได้คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ปัญหาที่จะวินิจฉัยคงมีว่าคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้พิจารณาใหม่นั้นมีข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลในที่นี้จะต้องชัดแจ้งเพื่อแสดงว่าตนอาจชนะคดีได้อย่างไรบ้าง มิใช่กล่าวแต่เพียงว่า สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่เกินสามแสนบาทเท่านั้น โดยไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิงที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า หากพิจารณาใหม่แล้ว ศาลอาจพิพากษาให้ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ได้พิพากษาไปแล้ว ฉะนั้น คำร้องขอของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 208 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลจะสั่งให้มีการพิจารณาใหม่ได้

พิพากษายืน

Share