คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า “DR PEPPER” ซึ่งอาจเรียกขานได้ว่า “ดี – อา – เปป – เปอร์” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 32 รายการสินค้าน้ำดื่ม น้ำอัดลมและน้ำหวาน เป็นต้น เมื่อตามพจนานุกรม “DOCTOR” มีคำแปลว่า “แพทย์ หมอ ดุษฎีบัณฑิต” มีตัวย่อคือ “Dr” โดยใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็ก ไม่ใช่ “DR” ตามที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้ง “DR” เป็นคำสามัญทั่วไป ไม่ใช่ชื่อเรียกสามัญของสินค้าจำพวกน้ำดื่ม น้ำอัดลมหรือน้ำหวานที่โจทก์ขอจดทะเบียน ความหมายของอักษรโรมันดังกล่าวจึงไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียน ดังนั้น อักษรโรมัน “DR” จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ไม่อาจจดทะเบียนได้และมีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยโจทก์ไม่ต้องปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 531884 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/13610 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ในส่วนที่มีคำสั่งให้โจทก์แสดงเจตนาว่าจะไม่ขอถือเป็นสิทธิของโจทก์แต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน “DR” และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1264/2548 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 531884 ของโจทก์ต่อไปค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “DR PEPPER” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 32 รายการสินค้า น้ำดื่ม น้ำอัดลม น้ำหวาน เป็นต้น แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์ปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอักษรโรมัน “DR” โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า อักษรโรมัน “DR” เป็นคำย่อของคำว่า “DOCTOR” มีคำแปลตามพจนานุกรมว่า “แพทย์ หมอ ดุษฎีบัณฑิต” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายใช้กันเป็นเรื่องปกติธรรมดา นับว่าเป็นคำสามัญทั่วไป ไม่มีลักษณะที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างจากสินค้าอื่นอย่างไร จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เห็นว่า คำย่อของคำว่า “DOCTOR” ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมคือ “DR” โดยใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็ก ไม่ใช่ “DR” ตามที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่ใช่คำย่อของคำว่า “DOCTOR” ตามหลักเกณฑ์ในพจนานุกรมตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงอาจเรียกขานได้ว่า “ดี – อา – เปป – เปอร์” นอกจากนั้น คำสามัญ (Generic word) ที่ไม่อาจรับจดทะเบียนได้นั้นหมายถึงคำที่เป็นชื่อเรียกสามัญของสินค้านั้น ๆ เช่น คำว่า “เก้าอี้” สำหรับสินค้าเก้าอี้ เป็นต้น และไม่มีบุคคลใดสามารถหวงกันคำสามัญเช่นนั้นไว้ใช้กับสินค้าดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวสำหรับอักษรโรมัน “DR” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์แม้จะพิจารณาว่าเป็นคำที่มาจากคำย่อของคำว่า “DOCTOR” ซึ่งเป็นคำทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรมแปลว่า “แพทย์หมอ ดุษฎีบัญฑิต” แต่คำดังกล่าวไม่ใช่ชื่อเรียกสามัญของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนทั้งความหมายของอักษรโรมันดังกล่าวไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกน้ำดื่ม น้ำอัดลม หรือน้ำหวาน ที่โจทก์ขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าโดยตรง เมื่อเป็นเช่นนี้อักษรโรมัน “DR” จึงไม่ใช่เครื่องหมายที่ไม่อาจจดทะเบียนได้ และมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยโจทก์ไม่ต้องปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share