คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยแต่งตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. กับจำเลยหาใช่เป็นเรื่องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ประกอบการค้าในการดูแลกิจการของจำเลยแต่อย่างใดไม่ เพราะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอันเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนในกิจการของจำเลย การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ทดรองจ่ายแทนจำเลย จึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยหรือรับทำการงานต่าง ๆ ของจำเลย คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 19 กันยายน 2540 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,801,780.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 1,027,609.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,027,609.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้เมื่อรวมต้นเงินกับดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2543)ต้องไม่เกิน 1,801,780.09 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์และยื่นคำร้องว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นเรื่องอายุความเพียงประเด็นเดียว ขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยและสั่งในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาว่าส่งสำเนาให้โจทก์พร้อมสำเนาอุทธรณ์จะคัดค้านอย่างไรให้ยื่นคำคัดค้านภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ มิฉะนั้นจะถือว่าไม่คัดค้าน ซึ่งโจทก์รับสำเนาอุทธรณ์และคำร้องแล้วโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์โดยไม่มีคำคัดค้านคำร้องดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะเพียงมีคำสั่งรับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ แล้วให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกากรณีก็พอให้ถือได้ว่าคำสั่งที่ให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา เป็นคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์มุ่งหวังกำไรทางธุรกิจจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นผู้ดูแลกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ ของจำเลย เรียกร้องเงินที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยไป จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี เห็นว่า จำเลยแต่งตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ทรัสต์ จำกัด เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการที่จำเลยแต่งตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ทรัสต์ จำกัด เป็นตัวแทนดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ทรัสต์ จำกัด กับจำเลย หาใช่เป็นเรื่องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ทรัสต์ จำกัด ประกอบการค้าในการดูแลกิจการของจำเลยแต่อย่างใดไม่เพราะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ทรัสต์ จำกัด จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอันเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนในกิจการของจำเลย การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ทรัสต์ จำกัด ทดรองจ่ายแทนจำเลยกรณีจึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยหรือรับทำการงานต่าง ๆ ของจำเลย คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ดังอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 19 กันยายน 2540 นับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share