แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกจ้างมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างโดยสมบูรณ์ในการจ้างคนงาน ไม่ว่าเป็นตัวคนที่ว่างงาน ค่าแรง ตลอดจนกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจ้างนั้น จึงเป็นกรณีที่ระบุตามข้อ 36 (1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา หาต้องพิจารณาว่าในการทำงานของลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของนายจ้างหรือผู้แทนของนายจ้างหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดทัดทองฯ จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำหน้าที่หัวหน้าควบคุมงานก่อสร้าง จำเลยได้สั่งให้โจทก์ไปควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่จังหวัดปัตตานี เนื่องจากต้องทำงานอย่างรีบเร่งมาก โจทก์จึงได้ทำงานล่วงเวลาทุกวัน และต้องทำงานในวันหยุดด้วย ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่างานหมดแล้วโดยไม่จ่ายค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาล ซึ่งโจทก์ประสบอุบัติเหตุขณะทำงานในกิจการของจำเลย ค่าทดแทนและไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวและค่าจ้างล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำแต่เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น จำเลยจ้างโจทก์ให้มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานคุมงานก่อสร้างแต่ละงาน มีสิทธิบังคับบัญชาคนงาน โจทก์ต้องใช้ความสามารถและความตั้งใจของตนในการควบคุมให้ดีที่สุด การเรียกค่าล่วงเวลาจึงไม่มีเหตุสมควร และจำเลยยังตกลงให้โจทก์เร่งรัดงานให้เสร็จโดยเร็ว หากงานเสร็จก่อนกำหนด ก็จะตอบแทนเป็นรางวันส่วนหนึ่งแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลา อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมิใช่เกิดขึ้นเพราะกิจการของจำเลย โจทก์มิได้บาดเจ็บทุพพลภาพ และไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระยะเวลาที่ฟ้องเพราะมิใช่ลูกจ้างจำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์เป็นรายโครงการไป โจทก์ควบคุมงานก่อสร้างที่จังหวัดปัตตานีถึงเดือนตุลาคม ๒๕๒๒ การก่อสร้างก็แล้วเสร็จช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๒ ถึงมกราคม ๒๕๒๒ โจทก์มิใช่ลูกจ้างจำเลย ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง โจทก์เริ่มทำงานตามโครงการใหม่ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ครั้นวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๓ ซึ่งโจทก์ทำงานมา ๔ เดือนเศษ และงานยังไม่เสร็จ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ๕,๐๐๐ บาท ในการควบคุมการก่อสร้างโจทก์มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างในกรณีเกี่ยวข้องกับการจ้างคนงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๔ ข้อ ๓๖ (๑) ในเรื่องค่าทดแทนซึ่งรวมทั้งค่ารักษาพยาบาลนั้น โจทก์ไม่ปฏิบัติตามวิธีการและขั้นตอนของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๔ จึงไม่สิทธิฟ้อง และจำเลยที่ ๒ กระทำการในสามหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินค่าชดเชย จำนวน ๕,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางสั่งรับเฉพาะประเด็นที่ ๒ ในส่วนที่อุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์ไม่เข้าข้อ ๓๖ (๑) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ โจทก์ซึ่งมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นเป็นข้อเท็จจริงไม่รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลฎีกาสั่งยกคำร้องฯ แผนก++แรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฎีกา ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๓๖ กำหนดว่า “ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ ๓๕ และ ๔๒ (๑) งานที่ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายหรือหัวหน้างานซึ่งมีหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การลดการจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษ หรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ (๒) ฯลฯ “ดังนี้เป็นว่า เมื่อลูกจ้างทำงานมีตำแหน่งและมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดตามที่ระบุในข้อ ๓๖ (๑) นี้แล้ว ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา หาต้องพิจารณาว่าในการทำงานของลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้างหรือผู้แทนของนายจ้างอีกหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนห้างหุ้นส่วนจำเลยโดยสมบูรณ์ในกรณีการจ้างพนักงาน ไม่ว่าเป็นตัวคนงานที่ว่าจ้าง ค่าแรง ตลอดจนกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจ้างนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า กรณีของโจทก์เป็นเรื่องตามข้อ ๓๖ (๑) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา
พิพากษายืน